เลี้ยงลูกอย่างไร ให้หัวใจแข็งแรง

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้หัวใจแข็งแรง

“เด็กมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา”

บางรายตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด บางรายตรวจพบหลังอายุ 1-2 เดือน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก และหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคหัวใจสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กอย่างรุนแรง โรคหัวใจในเด็กหายได้ หากตรวจพบเร็ว และรักษาอย่างทันท่วงที

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการดูแล และป้องกันโรคหัวใจในเด็ก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้อง และดูแลหัวใจน้อย ๆ ของลูกคุณได้อย่างดีที่สุด

โรคหัวใจเด็กเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
โรคหัวใจในเด็ก แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

  1. กลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุความผิดพลาดทางพันธุกรรมที่เกิดเองได้ตามธรรมชาติ 0.8% หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่นๆได้ โดยชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว ความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น มีรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังกั้นห้องล่าง หรือมีลิ้นหัวใจตีบเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ก็สามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหรือบริเวณรูรั่ว
  2. กลุ่มโรคหัวใจที่เกิดภายหลัง (Acquired heart disease) หรือเกิดขึ้นหลังคลอด ที่พบได้บ่อย เช่น โรคคาวาซากิ, โรคไข้รูมาติก, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, การติดเชื้อที่หัวใจ หรือการอักเสบอื่นๆ
  3. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเกิดได้เองหรือมีโรคหัวใจ 2 กลุ่มข้างต้นร่วมด้วยได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจในเด็ก
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าเด็กที่คลอดปกติ 1,000 ราย จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ 8 ราย ตามธรรมชาติของโรคอยู่แล้ว แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
  • มีการติดเชื้อบางอย่างขณะตั้งครรภ์
  • การที่คุณแม่ได้รับยาบางอย่างที่มีผลต่อเด็กในท้อง
  • โรคประจำตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์
  • มีประวัติครอบครัวที่เคยมีการติดเชื้อที่หัวใจ ประวัติการใช้สารเสพติด เด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • มีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะในครอบครัว ประวัติเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น หมดสติ จมน้ำ
  • เด็กที่มีอาการคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus group A แล้วกินยาฆ่าเชื้อไม่ครบตามแพทย์สั่ง

สัญญาณเตือนว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจ
หากพบว่าบุตรหลานมีประวัติความเสี่ยงตามข้างต้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินโอกาสการเป็นโรคหัวใจ และส่งตรวจเพิ่มเติม ส่วนอาการอื่นๆที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจนอกจากความเสี่ยงข้างต้น ได้แก่

  • ตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ เช่น เสียง “ฟู่” หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เด็กทารกที่กินนมแล้วรู้สึกเหนื่อย กินได้ครั้งละน้อย ๆ ร่วมกับหายใจแรงปีกจมูกบาน มีอาการอกบุ๋มหรือหัวโยกเวลาออกแรงกินนม เหงื่อออกง่าย และออกมากกว่าปกติ น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์
  • เด็กที่โตขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • เด็กที่มีอาการปากเขียวเวลาร้องไห้หรือเวลาเล่นออกกำลังกาย
  • เด็กที่มีอาการหมดสติเป็นลมหรือสามารถบอกได้ว่ามีอาการเจ็บหน้าอกหรือใจสั่น
  • เจริญเติบโตช้า

หากบุตรหลานท่านมีอาการเหล่านี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจเช่นกัน

การตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก

การตรวจหาโรคหัวใจในเด็กนั้น ประเมินตั้งแต่ตรวจร่างกายเพื่อพิจารณาว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจชนิดใด และมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (CXR), คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), อัลตราซาวด์หัวใจหรือที่เรียกว่า Echocardiogram เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเบื้องต้น และยังมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็น เช่น การวิ่งสายพาน (Exercise stress test), การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitoring), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), รวมถึงการสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับการรักษาต่อไป

การป้องกัน และรักษาโรคหัวใจในเด็ก

  1. สาเหตุของโรคที่อาจป้องกันได้ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากพบว่าตัวเองมีโรคประจำตัว มียาที่ต้องทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องยา และภาวะเหล่าน้ั้นว่ามีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดหัวใจอักเสบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่ทำให้เกิดข้ออักเสบจากแบคทีเรีย การติดเชื้อโควิดที่สามารถทำให้เกิดหัวใจอักเสบตามมา รวมถึงการป้องกันฟันผุในเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  1. สาเหตุของโรคที่ป้องกันไม่ได้ เราสามารถลดความรุนแรงของโรคได้หากเราตรวจพบโรคได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้นหากบุตรหลานของท่านมีประวัติความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจในเด็ก หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจในเด็กตามข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาที่อย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยยาบางชนิดหายเองได้แต่ต้องสังเกตอาการเป็นระยะ และบางโรคอาจต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือผ่าตัด ซึ่งหากตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคการรักษามักจะได้ผลดีมากกว่า

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม อาคาร A ชั้น 3
โทร. 038-317-333 ต่อ 2305, 2337


ปรึกษาแพทย์

    แพ็คเกจแนะนำ


    Related Health Blogs

    Related Doctors