หดหู่ หงุดหงิดง่าย หลับไม่สนิท สัญญาณ “โรคซึมเศร้า” ที่ต้องรีบรักษา!

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยตระหนักว่า เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะเข้าใจว่า “ผู้ป่วยกำลังคิดมากไปเอง” และมักปลอบใจด้วยคำพูดแค่ว่า “อย่าคิดมาก” ซึ่งนั่นไม่ได้มีผลช่วยให้อารมณ์เศร้าของผู้ป่วยดีขึ้นแต่อย่างใด

ปัจจัยกระตุ้นและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยกระตุ้นได้หลายอย่าง เช่น ความเครียดหรือภาวะความกดดันในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยหรือการสูญเสีย ผิดหวัง สอบตก อกหัก การนอกใจ และอื่นๆ อีกมาก แต่ทั้งนี้ก็พบได้มากกว่า ผู้ป่วยเกิดโรคซึมเศร้าได้เอง โดยไม่มีเรื่องกระทบจิตใจแต่อย่างใด และเนื่องจากอาการเศร้าที่เกิดขึ้นนั้น เป็นมากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง (Neurotransmitter) เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการจึงควรเข้ารับการรักษา โดยเน้นไปที่การใช้ยาต้านอารมณ์เศร้าเป็นหลัก

สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าเหล่านี้ หากมีเกิน 2 สัปดาห์…ควรไปพบแพทย์

โรคซึมเศร้าไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์เศร้าที่เกิดจาก “ปัญหาในการปรับตัว” ต่อความเครียดเท่านั้น เพราะถ้าเป็นเพียงเท่านั้น ภาวะเศร้ามักค่อยๆ คลายลงเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน

แต่โรคซึมเศร้าที่เราควรพิจารณา คือ หากใครก็ตามที่มีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ จนทำให้มีปัญหาบกพร่องในการทำงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นั่นแหละที่เราควรคิดถึง “โรคซึมเศร้า” และควรไปพบแพทย์ ซึ่งสามารถพิจารณาอาการได้หลายทาง

  • อารมณ์
  • ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน หมดสนุก
  • หดหู่ เศร้าหมอง เบื่อหน่าย ท้อแท้ชีวิต
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนไหวต่อคำพูด
  • ความคิด
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำแย่ลง
  • มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีสิ่งดีๆ ในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง
  • รู้สึกว่าตัวเองผิด (อย่างไม่สมเหตุสมผล) รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า
  • คิดอยากทำร้ายตนเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • อาการทางกาย
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เคลื่อนไหวเชื่องช้า
  • ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ
  • หลับยาก หลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นกลางดึก (นอนต่อไม่หลับ)
  • ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ ขาดความกระตือรือร้น

การรักษาโรคซึมเศร้า การให้ยา และการทำจิตบำบัด

ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าให้ผลที่ดีมาก ซึ่งการรักษา จะทำโดยการใช้ยาต้านอารมณ์เศร้า (Antidepressants) ที่มีหลายชนิดตามความเหมาะสม เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมักตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะเริ่มต้นให้ยาในขนาดน้อยๆ ก่อน จากนั้นจึงพิจารณาปรับเพิ่มขนาดยาจนถึงระดับที่ออกฤทธิ์ได้ผล ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยา เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการกินยาแล้ว จิตแพทย์จะให้การบำบัดด้วยการ “ปรับความคิด-เปลี่ยนพฤติกรรม” (Cognitive-Behavioral Therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยมีมุมมองทางบวกต่อตนเองและโลกภายนอก เห็นทางออกของปัญหา และตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเผชิญเรื่องท้าทายของชีวิต รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความรื่นรมย์และความเบิกบานให้แก่ชีวิต

ในกรณีที่อารมณ์เศร้าเป็นรุนแรงมาก เช่น มีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตนเอง หรือมีอาการโรคจิตร่วมด้วย ระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน จิตแพทย์จะรับผู้ป่วยไว้เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีญาติดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

หากผู้ป่วยได้กินยาจนอาการเศร้าดีขึ้นแล้ว ไม่ควรหยุดยาเองเพราะอาจทำให้อาการเศร้ากำเริบได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยกินยา (ในขนาดต่ำที่สุด) อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆ จนสามารถสั่งให้หยุดยาได้ในที่สุด

การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • รับฟัง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยระบายความทุกข์ใจ เข้าใจและยอมรับโดยไม่มีการตอกย้ำซ้ำเติม
  • ชักจูง ให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมที่สนุกสนาน หรือท่องเที่ยวธรรมชาติ
  • ดูแล ให้ผู้ป่วยกินยาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ

ปรึกษาแพทย์ทันที! หากพบว่าผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง


ปรึกษาแพทย์


    Related Doctors