ใครก็ตามที่มีอาการจามจนแสบจมูก ปวดกระบอกตา หรือถ้ายิ่งลามไปถึงมีอาการปวดหูนั้น ควรตั้งข้อสงสัยไว้อย่างหนึ่งว่า โรค “ไซนัสอักเสบ”อาจมาเยือนท่านแล้ว
แต่ “ไซนัส” ที่เรากำลังพูดถึงนั้นคืออวัยวะส่วนใดในกระโหลกศีรษะของเรา หลายคนอาจจะยังไม่รู้ วันนี้เราจึงอยากพาให้ทุกคนไปทำความรู้จักกับไซนัสกัน…
ไซนัส คืออะไรกันแน่?…
“ไซนัส” (Sinus) คือ โพรงอากาศที่อยู่รอบๆ โพรงจมูก ทำหน้าที่ระบายสิ่งต่างๆ ออกทางรูระบายโพรงจมูกตามระบบกลไกธรรมชาติ ซึ่งจะมีอยู่ทั้งทางด้านซ้ายและขวา ประกอบเป็น 4 คู่ ตามบริเวณต่างๆ ดังนี้
- บริเวณระหว่างหัวตาทั้งสองข้าง (Ethmoid sinus) 1 คู่
- บริเวณแก้ม (Maxillary sinus) 1 คู่
- บริเวณหน้าผาก (Frontal sinus) 1 คู่ และ
- บริเวณในสุดของรูจมูกและที่ใต้ฐานกะโหลกหรือฐานสมองส่วนหลัง อีก 1 คู่ (Sphenoid sinus)
โรคไซนัสอักเสบ
เป็นการอักเสบและติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยโรคไซนัสอักเสบจะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ดังนี้
- โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ จะมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการแบบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆ ได้
อาการไซนัสอักเสบ มีอะไรบ้าง?
เมื่อไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดมึนๆ หนักๆ ตื้อๆ ตรงบริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้มหรือรอบๆ กระบอกตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายปวดฟัน ปวดบริเวณขากรรไกรบน อาการปวดอาจเป็นมากในเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า มีอาการปวดศีรษะ รวมถึงคัดจมูก จมูกได้กลิ่นน้อยลงหรือไม่ได้กลิ่นเลย พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บคอ มีเสมหะเหลืองหรือเขียวในลำคอ และหายใจมีกลิ่นเหม็น ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ก็มักมีไข้ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของ “โรคไซนัสอักเสบ”
เนื่องจากไซนัสอยู่ติดกับตา และสมอง ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
- ทางตา เกิดจากหนองในไซนัสไหลเข้าไปในตา ทำให้ตาโปน เห็นภาพซ้อน กลอกตาไม่ได้ และตาบอดในที่สุด
- ทางสมอง เกิดจากหนองในไซนัสลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ รวมถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีไข้สูงร่วมด้วย และหากปล่อยไว้จนเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เกิดความพิการ และอาจทำให้ติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปัจจัยที่ทำให้เป็นไซนัสอักเสบ
- โอกาสการเป็นไซนัสอักเสบหลังจากเป็นหวัดเกิดขึ้นได้ราวร้อยละ 0.5-5 ในประชากรทั่วไป ซึ่งจากสถิติพบว่า 1 ใน 8 คน จะต้องเป็นไซนัสอักเสบในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก พบว่ามีไซนัสอักเสบร่วมด้วยบ่อยราวร้อยละ 50-70
- ผู้ที่มีโครงสร้างของจมูกผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นกลางจมูกคด
- ผู้ที่สูบบุรี่ หรือ ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่อยู่เสมอ
- ผู้ที่อยู่ในเขตที่มีมลพิษทางอากาศสูง
การรักษาไซนัสอักเสบ
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
การรักษามักจะเป็นการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา 7-14 วัน โดยแพทย์มักเก็บหนองไปตรวจเพื่อให้ทราบว่าเป็นแบคทีเรียชนิดใด และตอบสนองดีต่อยาตัวใด
นอกจากนี้แพทย์อาจให้ยาช่วยลดการอักเสบ และช่วยการระบายของเยื่อเมือกจากโพรงอากาศไซนัส ซึ่งอาจเป็นยารับประทาน หรือเป็นการใช้ยาพ่นเฉพาะที่ ชนิดสเตียรอยด์ที่จะออกฤทธิ์เฉพาะจุด สามารถลดการอักเสบได้ดี ซึ่งยาพ่นรุ่นใหม่จะมีความปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cochrane review พบว่า ยาสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อยาสามารถเข้าถึงโพรงไซนัสได้ดี - ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
การรักษามักเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้การผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดธรรมดา หรือการใช้บอลลูนในการรักษา ซึ่งการผ่าตัดในยุคแรกจะเน้นไปที่การระบายหนองออกจากโพรงไซนัส แต่การผ่าตัดในยุคต่อมาจะมุ่งหวังเพื่อแก้ไขการอุดตันของรูระบายไซนัส เพื่อให้รูระบายไซนัสกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ดีกว่า