ลดโอกาสเกิดภาวะท้องลมได้ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว

ภาวะท้องลม หรือ ไข่ลม ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Blighted ovum   ท้องลมเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากไข่กับอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนแล้ว มีการฝังตัวในระยะะแรกแล้ว แต่ส่วนของตัวเด็กฝ่อหายไปก่อน จึงเหลือเพียงแค่ถุงการตั้งครรภ์ซึ่งไม่ฝ่อไปเอง จึงจำเป็นต้องให้แพทย์ทำการขูดลอกออก

แต่ในบางรายถ้าถุงการตั้งภรรค์ฝ่อเร็วมาก ถุงก็จะเล็กมากจนสามารถแท้งธรรมชาติหลุดออกมาทั้งถุงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรก หรือหลัง 12 สัปดาห์ ถุงก็สามารถหลุดออกมาได้เอง เรียกว่าเป็นการแท้งที่ครบถ้วน แต่ในช่วงหลัง 7 สัปดาห์จนถึงก่อน 12 สัปดาห์ การแท้งมักจะไม่สมบูรณ์ จึงอาจจะมีภาวะแทรกซ้อน คือมีการตกเลือดก่อนมาโรงพยาบาลได้

สาเหตุของท้องลม

สาเหตุของท้องลมนั้น ประมาณร้อยละ 50 จะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราพบว่าในท้องธรรมชาติ การเกิดท้องลมเกิดได้ในทุกอายุของมารดา โดย

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดท้องลมซึ่งเป็นแท้งธรรมชาติได้ร้อยละ 15
  • อายุ 35-38 ปี เสี่ยงท้องลมเพิ่มเป็นร้อยละ 20-25
  • อายุ 39-40 ปี เสี่ยงท้องลมร้อยละ 30
  • อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เสี่ยงท้องลมร้อยละ 35-40

จะเห็นได้ว่า โอกาสเกิดท้องลมนั้นสัมพันธ์กับอายุ เมื่อผู้หญิงเราอายุมากขึ้น ความปกติในแง่พันธุกรรมของไข่จะลดลงไป ทำให้ไข่ที่ได้ออกมานั้นเมื่อไปผสมกับอสุจิ จะได้ตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ คืออาจจะขาดหรือเกินที่โครโมโซมคู่ใดคู่หนึ่งหรือหลายคู่พร้อมๆ กัน

ภาพอัลตราซาวด์ขณะตรวจเพื่อค้นหาทารก ในขณะที่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7-8 สัปดาห์

จากภาพด้านบน เราจะพบว่ามีแต่ถุงการตั้งครรภ์ว่างๆ ที่ไม่พบตัวทารกอยู่ภายใน เนื่องจากตัวทารกได้ฝ่อหายไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงเหลือเพียงแค่ส่วนของรกและถุงน้ำคร่ำ

ท้องลมเป็นภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้

การเกิดท้องลมเป็นเรื่องของธรรมชาติของไข่มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเสมอไป ไข่ที่ตกตามธรรมชาติที่มีโครโมโซมผิดปกตินั้นสามารถผสมเป็นตัวอ่อนได้ แต่ฝังตัวได้ไม่นานก็ฝ่อและเหลือแต่ถุงการตั้งครรภ์กับส่วนของรก จึงทำให้ขาดประจำเดือนเหมือนการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป แต่วันที่มาตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูตัวทารกและหัวใจในช่วง 6-7 สัปดาห์ เราจะพบแต่ถุงว่างๆ ไม่มีตัวทารกอยู่ภายใน

ท้องลม เกิดซ้ำได้บ่อยแค่ไหน?

โอกาสในการเกิดซ้ำของท้องลมน้ันยังคงขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง โดยเมื่อเกิดในท้องแรก ท้องที่สองยังคงมีความเสี่ยงตามอายุเหมือนเดิม แต่เมื่อเกิดท้องลมถึงสองครั้ง ความเสี่ยงครั้งที่สามนั้นจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากอาจจะไม่ได้เกิดจากไข่ที่ผิดปกติตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อาจจะพบว่าคู่สมรสคนใดคนหนึ่งมีการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นๆให้กับตัวอ่อน

ผสมเทียมก็เกิดท้องลมได้

การเกิดท้องลมพบได้ทั้งในการตั้งครรภ์ธรรมชาติ และการตั้งครรภ์จากการผสมภายนอกร่างกาย โดยโอกาสเกิดนั้นเป็นไปตามอายุของผู้หญิง การเกิดท้องลมบ่อยๆ นั้นเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนมากขึ้น

โดยทั่วไปเราควรจะตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องลมซ้ำซ้อนมากกว่าสองครั้ง เช่นคู่สมรสคนใดคนหนึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ แต่คนๆ นั้นไม่พบความผิดปกติทางร่างกายเลย เราเรียกภาวะนี้ว่า balance translocation ซึ่งเราสามารถตรวจเลือดเพื่อดูโครโมโซม ดังรูป

ภาพตัวอย่างโครโมโซม

จากภาพด้านบน เป็นภาพโครโมโซม A, B เป็นโครโมโซมที่ปกติ ภาพกลางเป็นภาวะที่มีการขาดของโครโมโซมที่แขนล่างทั้งสองโครโมโซม และขวามือเป็นภาพตัวอย่างของโครโมโซมที่มี Balance translocation

ภาพขวามือเป็นภาพที่โครโมโซมส่วนที่ขาดมาต่อกัน แต่ไปต่อบนโครโมโซมผิดคู่ ในคนๆ นั้นถ้านับจำนวนโครโมโซมจะไม่สูญหายไปไหน เพียงแค่ย้ายที่อยู่เท่านั้น จึงไม่ส่งผลต่อร่างกายหรือเกิดโรค แต่เมื่อต้องมีบุตร โครโมโซมที่อยู่ผิดคู่เหล่านี้จะเริ่มมีการแบ่งตัวเพื่อเป็นเซลล์ไข่และอสุจิ ทำให้โครโมโซมของไข่หรืออสุจินั้นๆ มีส่วนที่อยู่ผิดคู่กันอยู่ และส่งผลต่อโครโมโซมของตัวอ่อนที่ขาดหรือเกินได้ สุดท้ายตัวอ่อนน้ันๆ จะไม่สามารภดำรงชีพอยู่ได้ จึงแท้งออกมา

ภาพตัวอย่างโครโมโซม

ท้องลมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม Balance translocation

เมื่อคู่สมรสคนใดคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องของ Balance translocation คู่สมรสนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะได้ตัวอ่อนที่ผิดปกติร้อยละ 50 ของตัวอ่อนทั้งหมดที่เกิดขึ้น และพบตัวอ่อนปกติได้ 1 ใน 4

ส่วนอีก 1 ใน 4 จะพบว่าเป็นเหมือนพ่อหรือแม่ที่เป็นภาวะพาหะของโครโมโซมอยู่ผิดที่ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้เหมือนพ่อหรือแม่

ทำเด็กหลอดแก้ว ลดความเสี่ยงท้องลมได้ด้วยการตรวจโครโมโซม

ภาวะท้องลมโดยธรรมชาตินั้นไม่สามารถป้องกันได้ ความเสี่ยงในการเกิดก็เป็นธรรมชาติตามอายุของฝ่ายหญิง แต่กรณีที่มีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือผสมภายนอกร่างกายนั้น เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงลงไปได้ โดยเฉพาะในรายที่มีอายุมาก ในรายที่เกิดซ้ำ หรือในรายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น balance translocation carrier โดยทำการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนอย่างละเอียดทุกคู่โครโมโซม เพื่อเลือกตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมปกติกลับเข้ามดลูก

อาการของหญิงตั้งครรภ์แบบท้องลม

อาการของคนที่เป็นท้องลมนั้น เหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป เนื่องจากรกมีการสร้างฮอร์โมน HCG เหมือนกับคนท้องปกติ เพียงแต่ระดับจะต่ำกว่าปกติ จึงทำให้คนท้องลมบางคนไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนปกติ อย่างไรก็ตามท้องลมในบางคนก็มีอาการแบบคนท้องปกติได้เช่นเดียวกัน เช่น ขาดประจำเดือน คัดเต้านม คลื่นไส้ เพียงแต่อาการมักจะน้อยกว่าคนปกติ เนื่องจากระดับของฮอร์โมน HCG ที่ต่ำกว่าปกติ

การตรวจวินิจฉัยภาวะท้องลม

การวินิจฉัยนั้น ทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะเห็นว่ามีถุงการตั้งครรภ์ในมดลูก และวัดขนาดของถุงการตั้งครรภ์แล้วมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่า 17-20 mm. แต่ยังไม่พบว่ามีตัวเด็กทารก ถ้ายังไม่มั่นใจ ควรนัดตรวจติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากทารกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการนัดตรวจซ้ำภายในหนึ่งสัปดาห์ เราควรจะเห็นการเจริญเติบโตของทารก และเห็นการเต้นของหัวใจ ถ้าตรวจซ้ำแล้วยังเห็นแต่ถุงที่มีขนาดที่โตขึ้น แต่ไม่เห็นตัวเด็ก แสดงว่าเป็นภาะวะท้องลมอย่างแน่นอน


ปรึกษาแพทย์

    บทความโดย

    สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

    Related Health Blogs

    Related Doctors