หากคุณเป็นคนหนึ่งที่วางแผนไว้ว่าอยากมีลูกในอนาคต เพราะตอนนี้ยังไม่พร้อมกับการมีบุตร หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับการ “ฝากไข่” หรือการ "แช่แข็งไข่" เพื่อเตรียมไข่ไว้ให้พร้อมสำหรับการผสมเพื่อการปฏิสนธิ
เพราะปัญหาการมีลูกยากนั้นเกิดขึ้นได้และมักจะมีมากขึ้นจากคุณอายุเพิ่มขึ้น อย่างเช่น จำนวนและคุณภาพของไข่ในร่างกายที่ลดลด หรือบางครั้งอาจมีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่คาดคิด การเก็บไข่ที่ดี มีคุณภาพ และในปริมาณที่เพียงพอไว้ จะช่วยให้คุณมีลูกได้ดั่งใจปรารถนาเมื่อถึงเวลาที่พร้อมมีบุตร
ยังไม่พร้อมมีลูก ให้ฝากไข่ แช่แข็งไข่ไว้ได้
การแช่แข็งไข่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเก็บรักษาไข่ที่สมบูรณ์เอาไว้ เพราะเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นโอกาสของการตั้งครรภ์จะลดลง โอกาสแท้งและโอกาสตั้งครรภ์ที่มีโครโมโซมผิดปกติจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการแช่แข็งไข่ไว้ก่อน จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยหยุดอายุไข่ไว้ เป็นการเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ในอนาคตได้
การฝากไข่ด้วยการแช่แข็งไข่ คืออะไร?
การแช่แข็งไข่ หรือ Egg Freezing เป็นนวัตกรรมการเก็บรักษาไข่ไว้สำหรับคนที่ต้องการมีลูกในอนาคต โดยการนำไข่ที่สมบูรณ์มาเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลว ที่มีอุณหภูมิ -195 องศาเซลเซียส หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการเก็บไข่มาแช่แข็งไว้เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อันหมายถึงการคงประสิทธิภาพของเซลล์ไข่ไว้ให้เหมือนไข่ที่สมบูรณ์ปกติ เสมือนการหยุดเวลาไว้ไม่ให้ล่วงเลยไปตามวัยของหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ เมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะมีบุตร จึงนำไข่ที่แช่แข็งไว้มาทำการละลายและผสมกับอสุจิ เพื่อให้ได้ตัวอ่อน แล้วจึงฝังกลับเข้าไปในโพรงมดลูกซึ่งจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เหมือนการปฏิสนธิทั่วไป
ใครบ้างที่ควร “ฝากไข่” หรือ “แช่แข็งไข่”
- ผู้หญิงที่อายุ 35 ปี หรือมากกว่า ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูกในตอนนี้
- กรณีมีการวางแผนว่าจะมีบุตรในอนาคต หรือมีแฟนแล้วแต่ยังไม่แต่งงาน และคิดว่าอีกนานหลายปีกว่าจะแต่งงานหรือพร้อมมีบุตร
- คนที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรังไข่ เนื่องจากมีซีสต์หรือเนื้องอก เช่น Chocolate cyst
- ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง ที่มีผลทำให้การทำงานของรังไข่ลดลง
- ผู้ที่มีความผิดปกติของโครโมโซม ที่อาจทำให้ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ
- ผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี เป็นต้น
ขั้นตอนการเก็บรักษาไข่ด้วยวิธีแช่แข็ง
ขั้นตอนการเก็บไข่ จะไม่แตกต่างจากการเก็บไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งจะเริ่มจากการฉีดยากระตุ้นรังไข่ประมาณ 10 วัน โดยฉีดยาทุกวัน มีการติดตามผลการเจริญเติบโตของไข่ด้วยการทำอัลตราซาวด์ รวมถึงตรวจฮอร์โมนเป็นระยะๆ เมื่อไข่ได้ขนาดตามที่ต้องการจะมีการฉีดยาที่เรียกว่า HCG เพื่อทำให้ไข่สุก หลังจากฉีดยา HCG ไป 36 ชั่วโมงแล้ว จึงทำการเจาะและดูดไข่ออกทางช่องคลอดมาเก็บไว้ ซึ่งถ้าเป็นการทำเด็กหลอดแก้วตามปกติ ก็จะมีการผสมกับอสุจิในวันเดียวกันกับที่เก็บไข่ได้ แต่กรณีเพื่อเก็บรักษาไข่ไว้อย่างเดียว ก็ไม่ต้องผสมกับอสุจิ แพทย์จะทำการเลือกไข่ที่สมบูรณ์และเก็บโดยการแช่แข็งไข่เหล่านั้นไว้ จนกว่าเจ้าของไข่จะต้องการตั้งครรภ์ จึงนำออกมาละลายเพื่อผสมกับอสุจิต่อไป
การฝากไข่ หรือแช่แข็งไข่ กับประสิทธิผลในการเก็บรักษา
คุณภาพไข่จะขึ้นอยู่กับอายุของเจ้าของไข่ขณะเก็บไข่เป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเก็บเร็วตอนมีอายุน้อยก็จะได้คุณภาพไข่ที่ดีกว่า โดยหลังจากแช่แข็งไข่ไว้และนำมาละลายออกเพื่อผสมกับอสุจิ การแช่ไข่ไว้จำนวน 10 ใบ โอกาสที่ไข่จะรอดชีวิตทั้ง 10 ใบ นั้นเป็นไปได้ยาก ปกติแล้วอาจรอดชีวิตที่ 8 หรือ 7 ใบ คือราว 70-80% ของไข่ทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพไข่ก่อนการแช่แข็ง แพทย์จะนำไข่ที่รอดชีวิตมาทำการผสมกับอสุจิด้วยวิธีอิ๊กซี่ โดยโอกาสในการปฎิสนธิจะไม่แตกต่างจากการที่เราทำกับไข่สดแบบไม่แช่แข็งที่เก็บมาใหม่ๆ คือคุณภาพยังเหมือนเดิม และเด็กที่เกิดจากการแช่แข็งไข่ก็ไม่ได้มีความผิดปกติแตกต่างไปจากการทำเด็กหลอดแก้วปกติแต่อย่างใด
ฝากไข่ หรือแช่แข็งไข่ สามารถเก็บได้กี่ปี?
โดยปกติแล้วการเก็บเซลล์ในไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เซลล์ทุกเซลล์จะหยุดการทำงานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นอาจพูดได้ว่าเซลล์สามารถอยู่ได้ตลอดไป
และในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าการเก็บรักษาไข่ไว้นานแค่ไหนจะทำให้ไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ เพราะข้อมูลล่าสุด มีเพียงรายงานของการเก็บแช่แข็งประมาณ 4-5 ปี ก็นำมาละลายออกและทำการผสมกับอสุจิ ซึ่งก็สามารถเกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอดบุตรเป็นปกติ
ผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนในกระบวนการเก็บไข่เพื่อการแช่ไข่ มีอะไรบ้าง?
การกระตุ้นไข่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้บ้าง เพราะเมื่อร่างกายได้รับฮอร์โมนอาจเกิดภาวะรังไข่ตอบสนองต่อฮอร์โมนมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการเก็บเจาะไข่ที่อาจทำให้เลือดออก แต่ในทุกขั้นตอน หากทำอย่างระมัดระวัง และเลือกยาที่เหมาะสม โอกาสในการเกิดความเสี่ยงก็จะน้อยลง