ต้อหิน (Glaucoma) อาการ สาเหตุ และการรักษา

ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคทางตาอันเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีภาวะตาบอดชนิดที่รักษาไม่ได้

แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งก็ยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคต้อหิน เพราะโรคนี้จะมีการดำเนินโรคไปอย่างช้าๆ ซึ่งในประเทศไทยอาจมีคนที่เป็นต้อหินแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นอยู่สูงถึง 90% แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่า… ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น

ต้อหินคืออะไร ?

ต้อหิน คือโรคที่เกิดความผิดปกติของขั้วประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายเป็น “รอยหวำลึก” โดยทั่วไปขั้วประสาทตาของคนปกติจะมีรอยหวำขนาดประมาณไม่เกิน 50% ของขนาดขั้วประสาทตาทั้งหมด แต่ในคนที่เป็นต้อหิน เนื้อขั้วประสาทตาจะถูกทำลายเป็นรอยหวำใหญ่กว่านั้น

สาเหตุการเกิดโรคต้อหิน

สาเหตุที่ทำให้เกิดการทำลายของขั้วประสาทตาในโรคต้อหินมีหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ระดับความดันลูกตาที่สูงเกินกว่าค่าปกติ ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีความดันลูกตาโดยเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 21 มม.ปรอท 

ความดันที่สูงขึ้นผิดปกตินี้ จะก่อให้เกิดแรงกดที่ขั้วประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลาย เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ จากความดันที่สูงกว่าปกติ ผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็นไปอย่างช้าๆ โดยจะเสียจากบริเวณรอบนอกก่อนหรือที่เราเรียกว่าลานสายตา การมองเห็นที่ผิดปกติในโรคต้อหินนี้จะค่อยๆ ลุกลามเข้าหาด้านในของลานสายตา จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกอาจไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจคัดกรองสุขภาพดวงตาทุกปีจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้เร็วขึ้น

ทำไมผู้ป่วยโรคต้อหินจึงมีความดันลูกตาสูงกว่าคนทั่วไป

ปกติแล้ว ลักษณะปกติของลูกตา จะมีการหมุนเวียนของน้ำภายในลูกตาอย่างสมดุลผ่านทางระบายน้ำบริเวณมุมตาดำ (trabecular meshwork) แต่ในคนไข้ต้อหินจะมีความผิดปกติที่ทางระบายน้ำนี้ ซึ่งลักษณะการผิดปกติจะแบ่งเป็นสองชนิด ทำให้เกิดเป็นต้อหินมุมเปิด กับต้อหินมุมปิด ที่แตกต่างกัน

ใครบ้างที่เสี่ยงโรคต้อหิน

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • บุคคลที่มีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคต้อหิน
  • ผู้เป็นเบาหวาน
  • สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ
  • เคยมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ หรือเคยผ่าตัดทางตา
  • เป็นโรคเรื้อรังบางอย่างทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ
  • ซื้อยาหยอดตาพวกสเตียรอยด์มาใช้เองเป็นประจำ

การรักษาโรคต้อหิน

ในการรักษาโรคต้อหินจะมุ่งเป้าไปที่การลดความดันลูกตาลง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค การลดความดันลูกตาสามารถทำได้โดย…

  • ใช้ยาหยอด หรือยารับประทาน
  • การยิงเลเซอร์
  • การผ่าตัดลดความดันลูกตา

อย่างไรก็ตาม โรคต้อหินแต่ละชนิดในแต่ละคนจะตอบสนองต่อวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ดังนั้นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคต้อหิน จะเป็นผู้พิจารณาปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย

เพราะคนไทยต้องสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทุกคนจึงควรคิดถึงการป้องกัน การตรวจคัดกรอง เพราะหากพบโรคในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่า การเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

ปรึกษาแพทย์


    Related Doctors