ข้อมูลแพทย์

นพ.ฐานะวัฒน์ โตชัยวัฒน์

  • สาขา:เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • อนุสาขา:-
  • ภาษา:ไทย อังกฤษ
สาขา
  • ปริญญาบัตร แพทยศาสตร์บัณฑิต สถาบันวิทยาลัย แพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
  • 2553 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

2554 หลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบิน สถาบันเวชศาสตร์การบิน

ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.ฐานะวัฒน์ โตชัยวัฒน์

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีหน้าที่รักษารวมถึงดูแลฟื้นฟูสมรภาพทางร่างกายให้แก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมามีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิมให้มากที่สุด

งานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะครอบคลุมหลายกลุ่มโรค ตั้งแต่โรคทางระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การบาดเจ็บไขสันหลัง โรคหัวใจต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด กับเวชศาสตร์การกีฬา เช่น ผู้ที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อหรือเอ็น การตรวจวินิจฉัยเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อทำการรักษาฟื้นฟูอย่างตรงจุด

หลังจาก นพ.ฐานะวัฒน์ โตชัยวัฒน์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า แล้ว คุณหมอได้ปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ที่โรงพยาบาลกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่จะศึกษาต่อวุฒิบัตรเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และได้เป็นแพทย์ด้านนี้ที่โรงพยาบาลภูมิพล ทั้งยังเคยไปดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้คุณหมอยังได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านเวชศาสตร์การบิน ที่สถาบันเวชศาสตร์การบิน อีกด้วย

ปัจจุบันคุณหมอเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฟื้นฟูคนไข้โดยองค์รวม รวมถึงฝังเข็มคลายกล้ามเนื้อเฉพาะจุด ทั้งนี้คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

หมอชอบที่จะดูแลรักษาคนไข้แบบองค์รวม คือดูให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่การรักษาให้หายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะมองไปถึงสาเหตุและการป้องกันในหลายมิติ หมอจะดูไปถึงบริบทของคนไข้ พิจารณาไปถึงไลฟ์สไตล์ อาชีพการงาน สมรรถภาพ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ของคนไข้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ซึ่งการดูแลคนไข้ในลักษณะนี้นับเป็นแนวทางหลักของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่เราจะดูแลผู้ป่วยให้ครบทุกมุม เพื่อการป้องกัน พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพโดยรวม ทั้งทางด้านตัวโรคและด้านจิตใจ เพื่อให้คนไข้ดำเนินชีวิตไปสู่การมีสุขภาพดีในระยะยาว

คนไข้หลัก ที่คุณหมอดูแลรักษา

คนไข้หลักๆ ของคุณหมอฐานะวัฒน์ ในแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู มักมาด้วยปัญหาด้านกล้ามเนื้อและเอ็นแบบเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันจะรู้จักในชื่อโรคออฟฟิศซินโดรม รองลงมาก็จะเป็นคนไข้กลุ่มที่เป็นโรคเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท ระบบหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจประเภทต่างๆ

กรณีที่เป็นผู้ป่วยนอก ก็จะมีทั้งที่มาพบคุณหมอโดยตรง และการส่งต่อมาจากแผนกอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งจะพบบ่อยในหมู่พนักงานออฟฟิศ ซึ่งอาจจะมาด้วยอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง ปวดมากจนมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ซึ่งหากแพทย์ด้านระบบประสาท หรือแพทย์กล้ามเนื้อ กระดูกและขอ ตรวจพบว่าคนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ คนไข้ก็จะถูกส่งต่อมาที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อให้คุณหมอช่วยดูแลรักษาต่อ

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บต่างๆ หลังจากได้รับการรักษาแล้ว หากจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูร่างกาย คุณหมอฐานะวัฒน์ ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูและให้คำปรึกษา โดยทำงานร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้และแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ที่ทำการรักษามาก่อนหน้านี้… 

“หลักๆ การรักษาด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ Physical Medicine and Rehabilitation   จะเน้นในเรื่องการทำหัตถการเพื่อลดอาการปวด และฟื้นฟูสมรรถภาพคนไข้ด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างเช่นการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ใช้แผ่นประคบร้อน ใช้ความเย็น รวมไปถึงเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และเครื่องดัดหลัง นอกจากนี้หมอก็ยังมีการทำหัตถการฝังเข็มตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน ในส่วนของการทำกายภาพบำบัดก็จะมีโปรแกรมกิจกรรมบำบัด เพื่อการฟื้นฟูและส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ”

บทบาทและความสำคัญของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในปัจจุบัน

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ณ ปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีโรคหลายกลุ่มที่คนไข้จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษา โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…

“หมอขอยกตัวอย่างความประทับใจ เมื่อสมัยครั้งเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหาร หมอได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นทหารจากการปฎิบัติภารกิจหลายราย ซึ่งได้รับการบาดเจ็บรุนแรง เมื่อคนไข้เข้ามา หมอได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมดูแลผู้ป่วย ซึ่งเริ่มดูตั้งแต่ผู้ป่วยหมดสติซึ่งหลังจากนั้นทีมแพทย์ก็ทำการช่วยชีวิตจนผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย หมอและทีมงานที่ทำการรักษาก็ได้ดูแลให้ผู้ป่วยฟื้นฟูและพัฒนาสมรรถภาพร่างกายมาเป็นระยะๆ จนในที่สุดคนไข้รายนี้ก็สามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเลยทีเดียว นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจอีกอย่างที่ทำให้หมอรู้สึกว่า…

ไม่ว่าผู้ป่วยจะมาด้วยอาการหนักแค่ไหน หมอจะพยายามดูแลรักษาให้ดีที่สุด เพื่อให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและดีที่สุด”

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง