ทพญ.ธันยธร อรัณยะปาล
“อันที่จริงแล้ว งานหมอฟันไม่ใช่เป็นแค่งานแพทย์ตรงๆ เพียงอย่างเดียว เพราะทันตแพทย์ที่ดีจะต้องมีทักษะด้านศิลปะด้วย และไม่ใช่เฉพาะงานทันตกรรมประดิษฐ์เท่านั้น เพราะศิลปะของการทำฟันยังรวมถึงงานทันตกรรมทุกสาขา หมอฟันต้องสามารถเลือกสี เลือกวัสดุ เลือกรูปทรง เลือกขนาดให้เหมาะเจาะลงตัว เพื่อนำมาประดิษฐ์เป็นฟันปลอมหรือครอบฟันที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายได้อย่างสวยงามและเป็นธรรมชาติ เรียกว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งได้เลย”
ทพญ.ธันยธร อรัณยะปาล สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ศึกษาต่อประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านทันตกรรมประดิษฐ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…
“ตอนแรกเลย หมออยากเป็นสัตวแพทย์ แต่ช่วงที่เรียนมัธยมปลายได้มีโอกาสไปเข้าค่ายกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นหมอฟัน ก็เลยเบนเข็มมุ่งมาด้านทันตกรรม ส่วนที่เลือกเรียนต่อด้านทันตกรรมประดิษฐ์ ก็เพราะเวลาหมอทำงาน หมอรู้สึกว่าตัวเองจะมีความใจเย็นและสื่อสารกับคนไข้ผู้สูงวัยได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องฟันที่ต้องทำทันตกรรมประดิษฐ์ และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ คือตอนที่เรียนทันตแพทย์ คุณย่าของหมอเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในปากอันเนื่องมาจากฟันปลอมบิ่นแล้วก่อให้เกิดแผลในปากเรื้อรัง หมอก็เลยมีความตั้งใจอยากจะรักษาฟันและดูแลสุขภาพในช่องปากให้กับคนไข้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่หมอเคยประสบ”
รักษาฟัน พร้อมทำฟันทันตกรรมประดิษฐ์
ทันตแพทย์ทุกคนสามารถทำฟันให้คนไข้ตั้งแต่วัยเด็กโดยเริ่มจากฟันซี่แรกไปจนถึงผู้สูงวัยได้ทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีโรคที่ซับซ้อนมากๆ คนไข้ก็ควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์เฉพาะทางในสาขานั้นๆ คุณหมอธันยธร เป็นทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมประดิษฐ์ จึงเน้นการรักษาผู้สูงวัยที่ต้องทำทันตกรรมประดิษฐ์ แต่ก็สามารถดูแลคนไข้ด้านทันตกรรมทั่วไปในทุกวัยได้เช่นกัน
ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาฟันบิ่น แตก หัก หลุด หรือถึงมีฟันแท้อยู่แต่เคี้ยวอาหารไม่ได้หรือฟันไม่สวยและอยากจะทำให้สวย ก็จะเป็นหน้าที่ของคุณหมอทันตกรรมประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึงหมอฟันที่ต้องประดิดประดอยฟันให้คนไข้กลับมามีฟันสมบูรณ์และสวยงาม ใช้งานได้ เคี้ยวอาหารได้ดีเหมือนเดิม…
“ทันตกรรมประดิษฐ์ถ้าพูดเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือฟันปลอม ซึ่งฟันปลอมก็มีหลายประเภท มีทั้งแบบครอบฟัน มีแบบถอดเขาถอดออกได้ หรือฟันปลอมแบบใส่รากเทียม เป็นต้น ดังนั้นหมอทันตกรรมประดิษฐ์ก็คือหมอฟันปลอมนั้นเอง”
เข้าถึงคนไข้สูงวัยด้วยการใส่ใจดูแล
โดยทั่วไปแล้ว คุณไข้สูงวัยก็จะมีบุคลิกที่จะคล้ายๆ ย้อนวัยกลับมาเป็นเด็ก ดังนั้นการพูดคุยจะต้องมีเทคนิคบางอย่าง ซึ่งคุณหมอธันยธร จะเน้นการสร้างบรรยากาศในห้องทำฟันให้มีความเป็นกันเอง พูดคุยด้วยรอยยิ้ม สำหรับคนไข้ที่เพิ่งเคยพบกันครั้งแรกก็จะมีการสนทนาเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้คนไข้ผ่อนคลายหายกังวล ในขณะทำฟันคุณหมอยังเปิดเพลงช้าๆ เบาๆ เพื่อเบี่ยงเบนเสียงจากเครื่องกรอฟันหรือเครื่องมือต่างๆ ให้ลดความน่ากลัวลงด้วย…
“โชคดีที่หมอเป็นคนใจเย็นและเข้าถึงคนไข้ผู้สูงวัยได้ค่อนข้างดี เพราะตอนเด็กๆ จะอยู่ใกล้ชิดกับคุณย่า การเข้าใจผู้สูงวัยจึงไม่ใช่เรื่องยาก การรู้จักสังเกต และขยันอธิบายให้คนไข้เข้าใจถึงขั้นตอนการรักษาก็เป็นการลดความกังวลได้ในระดับหนึ่ง หรืออย่างการฉีดยาก็จะมีการป้ายยาชาก่อนฉีด เวลาฉีดยาจริงคนไข้ก็จะไม่เจ็บ หรืออย่างการกรอฟันก็จะพูดเสมอว่า ไม่เจ็บนะคะ ไม่ต้องกลัว หมอว่าการพูดคุยจะช่วยลดความตึงเครียดและคลายกังวลได้ดีเลยทีเดียว”
รักษาฟัน เปลี่ยนชีวิตคนไข้ให้กลับมายิ้มได้
ปัญหาฟันผุ ไม่ได้สร้างอุปสรรคแค่การขบเคี้ยวอาหาร แต่ยังรวมไปถึงบุคลิกภาพและความมั่นใจของคนไข้ที่เสียไป ซึ่งคุณหมอธันยธร บอกไว้ว่า หมอฟันที่ดีต้องทำให้คนไข้รู้สึกว่าเขาโชคดีที่ได้มาเจอหมอ เพราะคนไข้ไม่รู้หรอกว่าระหว่างการรักษาฟัน หมอต้องเพ่งหรือต้องใช้ทักษะอะไรบ้างในการรักษา แต่หลังจากที่เขาได้รับการรักษาแล้วพบว่าสามารถกลับมาเคี้ยวอาหารได้ดีเป็นปกติ มีฟันที่สวยงามขึ้น เกิดความมั่นใจและพึงพอใจกับผลลัพธ์ นั่นคือความสำเร็จและความภาคภูมิใจของทันตแพทย์…
“อย่างเคสล่าสุด เป็นคู่สามีภรรยามาพบหมอ ตัวสามีอายุ 50 ปีแล้ว แต่เป็นคนที่กลัวหมอฟันมาก จึงปล่อยปัญหาฟันไว้นานหลายปีจนฟันหลอเกือบหมดปาก พอฟันไม่โอเค ก็ทำให้เสียบุคลิกภาพ หมดความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม คนไข้ปล่อยเวลาผ่านไปจนกระทั่งไม่มีฟันจะเคี้ยวอาหารแล้วจึงมาพบหมอ เคสนี้จึงต้องมารักษากันกว่า 10 ครั้งถึงจะแล้วเสร็จ คือมีทั้งอุดฟัน ครอบฟัน ทำฟันปลอม แต่หลังจากกระบวนการรักษาเสร็จสิ้น คนไข้ก็พูดว่า… ต่อไปนี้เขาจะไม่ทำหน้าที่เป็นแค่ตากล้องคอยกดชัตเตอร์ถ่ายรูปอย่างเดียวแล้ว แต่จะไปยืนยิ้มถ่ายรูปคู่กับภรรยาซะที ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเขาไม่ชอบถ่ายรูป เพียงแต่อายที่จะยิ้มเพราะฟันไม่สวยนั่นเอง นี่ก็เหมือนเป็นการพลิกชีวิตเติมความมั่นใจให้กับเขา”
ในทุกเคสเมื่อรักษาแล้วเสร็จ คุณหมอจะมีความรู้สึกถึงความภาคภูมิใจที่สามารถทำให้คนไข้กลับมาเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น หายเจ็บปวด และมีความมั่นใจ รวมถึงสุขภาพจิตที่ดีขึ้น…
“หมอภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้คนไข้กลับมายิ้มได้อย่างมั่นใจ ซึ่งงานของหมอฟันก็จะอยู่กับคนไข้ตลอดไป อยู่กับปากของคนไข้ไปยาวนาน เวลาเค้ายิ้มหน้ากระจกคิดว่าคนไข้ก็คงจะนึกถึงครั้งที่มาทำฟัน และนึกถึงเราบ้าง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”