ไข้เลือดออก อย่าปล่อยให้เป็นซ้ำ อันตรายถึงชีวิต

ไข้เลือดออก ยังคงน่ากลัว

จากข้อมูลสถิติ พบว่า 75% ของคนที่ติดเชื้อไข้เลือดออก มักไม่รู้ตัว เนื่องจากตัวโรคยังไม่แสดงอาการ
ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้แม้บริเวณที่มีน้ำปริมาณน้อย ยุงลายอาศัย และแพร่พันธุ์อยู่ได้ทุกที่ ไข่ยุงลายอยู่ในพื้นที่แห้งได้นาน 5 ปี เมื่อมีน้ำไข่ยุงลายจะใช้เวลาเพียง 10-20 วินาทีในการออกมาเป็นลูกน้ำ

การแพร่ระบาดของ โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค แพร่เชื้อผ่านทางน้ำลายของยุง หลังจากยุงดูดเลือดของคนที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป เชื้อจะทำการเพาะเชื้อในกระเพาะ และต่อมน้ำลายของยุง โดยมีระยะการฟักตัวอยู่ที่ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดผู้อื่น จะทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัดจนเกิดการติดเชื้อ และป่วยตามมาหลังถูกกัด 3-15 วัน

ไข้เลือดออก ยิ่งเป็นซ้ำอาการยิ่งรุนแรง

ไข้เลือดออก เป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก การติดเชื้อซ้ำครั้งถัดไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้นถึงร้อยละ 80-90 เนื่องจากมีไวรัสถึง 4 สายพันธุ์

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น 6-12 เดือนหลังจากได้รับเชื้อไวรัสครั้งแรก เช่น เคยได้รับเชื้อสายพันธุ์ DENV-1 ก็จะมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์ DENV-1 ไปตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิต่อเชื้อสายพันธุ์อื่นเพียง 6-12 เดือนเท่านั้น

เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สองแต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน ภูมิต้านทานที่เหลืออยู่จะเกิดความสับสน จึงไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ดีพอหรือกำจัดได้ไม่ทัน ซ้ำยังพบว่าในบางราย ภูมิต้านทานที่เคยเป็นเกราะป้องกันกลับไปส่งเสริมให้เชื้อไวรัสนั้นแข็งแรงขึ้น กระจายตัวได้มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้การติดเชื้อครั้งที่สองมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม

ไข้เลือดออกกับความรุนแรงของโรค

อันตรายที่เกิดจากไวรัสไข้เลือดออกนั้น สามารถเกิดอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสียหาย ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก เช่น

  • ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
  • เลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น ทางเดินอาหาร สมอง
  • ภาวะช็อกจากการที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่พอ
  • การหายใจล้มเหลวจากสารน้ำที่รั่วไปท่วมที่ปอด
  • ตับวายจากเชื้อไวรัส และจากการที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอ

“วัคซีนไข้เลือดออก” ปกป้องชีวิตทุกคนจากโรคไข้เลือดออก

เพราะปัจจุบัน ยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกแบบเฉพาะเจาะจง การรักษาที่ทำได้ คือ การประคับประคองตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จึงเป็นการป้องกันทั้งการติดเชื้อ และความรุนแรงของโรค โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัคซีนไข้เลือดออก (QDENGA) ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยมีประสิทธิภาพดังนี้

  • ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 80.2%
  • ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 90.4%

วัคซีนไข้เลือดออกสามารถฉีดในเด็ก และผู้ใหญ่ได้ โดยแนะนำให้ผู้มีอายุ 4-60 ปี ควรได้รับวัคซีน นอกจากนั้นวัคซีนไข้เลือดออกยังสามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อนเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ และผู้ที่ยังไม่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors