สะเก็ดเงิน (Psoriasis)
เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่เร็วกว่าปกติ ทำให้ชั้นของหนังกำพร้าหนาตัวขึ้นจนเกิดเป็นผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงิน
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
แม้จะเป็นโรคที่มีอาการเด่นทางบริเวณผิวหนัง แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่มีการติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อ โดยเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บ และข้อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเท่ากันทั้งสองข้าง นอกจากนี้โรคสะเก็ดเงินอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง(SLE) โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงอาจสร้างปัญหาด้านจิตใจ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้
โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากอะไร ?
สาเหตุการเกิดโรคสะเก็ดเงินนั้นยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าปัจจัยสำคัญ อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ จนเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ทำให้การเจริญเติบโต และพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์ จนทำลายเซลล์ผิวหนังแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินอื่น ๆ ได้แก่
- พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อน
- สิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด อากาศ ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบหลังการผ่าตัด เช่น การแกะเกา ถูไถ เสียดสีบนผิวหนังที่รุนแรง ผิวไหม้แดด หรือแมลงกัดต่อย
- ภาวะความเจ็บป่วยภายในร่างกาย และการติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียสเตปโตคอคคัส (Streptococcus) ในระบบทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ และความดันโลหิต ยารักษามาลาเรีย ยาสมุนไพรบางชนิด
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
- สภาวะทางจิตใจ พบว่าผู้ป่วยที่เครียด หงุดหงิดง่าย จะกระตุ้นให้ผื่นกำเริบแดง และคันมากขึ้น
- การดื่มเหล้า และการสูบบุหรี่
- โรคอ้วนหรือผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะมีแนวโน้มเกิดรอยพับหรือย่นบริเวณผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป
- การทำงานที่ใช้สารเคมี ความชื้น หรือต้องเจอฝุ่นควัน สิ่งสกปรก สารที่ก่อให้เกิดการแพ้เป็นประจำ
ข้อสังเกต คุณเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือเปล่า
เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีอาการ และการแสดงออกของโรคต่างกัน โดยทั่วไปอาการจะประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
- ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน
- มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน หรือเจ็บบริเวณผื่น
- ผิวหนังแห้ง แตก และอาจมีเลือดออก
- เล็บหนา เล็บมีจุด หรือเล็บขรุขระ
- มีอาการบวมตามข้อ และข้อยึด
หากมีอาการผื่นที่ผิดปกติบริเวณผิวหนังตรงกับ 1 ใน 5 จุดสังเกต ก็มีแนวโน้มว่าคุณอาจจะมีอาการของโรคสะเก็ดเงินได้
ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน อาการ และความรุนแรง
โรคสะเก็ดเงินสามารถจำแนกออกได้หลายชนิดตามลักษณะภายนอกที่ปรากฎ และการกระจายตัวของโรค โดยแต่ละชนิดมีอาการ และความรุนแรงแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
- ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด และเป็นที่มาของชื่อโรคสะเก็ดเงิน มีลักษณะเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่าซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี โดยรอยโรคบริเวณหนังศีรษะพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด
- ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมาก่อน
- ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) มีลักษณะเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดง และมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น
- สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) มีลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรัง และมักไม่ค่อยมีขุย เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ และใต้ราวนม เป็นต้น
- สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก โดยผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
- เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้น และเล็บผิดรูป
- ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อ ส่วนใหญ่การอักเสบของมือจะเกิดที่ข้อนิ้วมือ ซึ่งหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดการผิดรูปได้
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาทั้งในอดีต และปัจจุบัน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย ตรวจความผิดปกติของผิวหนัง ส่วนในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
แนวทางในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาว และรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และผลข้างเคียงจากยา โดยแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนี้
- การรักษาด้วยยาทาภายนอก
ถ้าเป็นน้อย ๆ การใช้ยาทาก็เพียงพอ แต่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การแกะเกา และแสงแดด ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ได้แก่
– ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ มีลักษณะเป็นครีมขาวใช้ง่าย และตอบสนองต่อการรักษาดี แต่มีข้อควรระวัง คือ หากทาเป็น ระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบาง และเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
– สารแอนทราลิน (anthralin, dithranol) มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติได้ แต่อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังรวมถึงผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้นได้
– น้ำมันดิน สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นเวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า และอาจทำให้รูขุมขนอักเสบหรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
– ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor ใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่ยามีราคาแพง
– อนุพันธ์วิตามิน ดี ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังกลับสู่ปกติ หากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้และยามีราคาแพง ในปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามินดี และยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียง
– สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เป็นยาทาภายนอกที่ปราศจากน้ำหอม อ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวระคายเคือง มีความเสี่ยงต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยลดอาการคัน แสบร้อน และช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น - การใช้ยารับประทาน และยาฉีด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง คือ ผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั้งหมด ซึ่งยาทานนั้นมีผลข้างเคียง ไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ควรอยู่ในการควบคุมโดยแพทย์ โดยอาจพิจารณาการรักษาแบบผสมผสานทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด เพื่อช่วยให้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น
– ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอาซิเทรติน (Acitretin) ยาเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
– ยาฉีดกลุ่มชีวโมเลกุล (Biologic agents) เป็นยาที่ช่วยกดภูมิคุ้มกันร่างกาย ฉีดเข้าเส้นหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ซึ่งยาบางชนิดฉีดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางชนิดอาจฉีดห่างกันทุก 3 เดือน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ช่วยยับยั้งวงจรการเกิดโรค และช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ - การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม
โดยรังสีที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต A และรังสีอัลตราไวโอเลต B ผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย
วิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
การหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพผิว การพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
- ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้ง
- หมั่นทำความสะอาดผิวเป็นประจำ โดยใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนัง ซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบมากขึ้น
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการลดรอบเอว ในปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนว่า การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการดูแลควบคุมน้ำหนักจะช่วยให้ผื่นสะเก็ดเงิน และอาการปวดข้อนั้นดีขึ้นที่ 3 – 6 เดือน และมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยารับประทานหรือยาฉีดชีวโมเลกุลดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะไปกระตุ้นเซลล์หนังกำพร้าให้เคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติ และเป็นตัวเร่งการกระจายตัวของโรคสะเก็ดเงิน
- อย่าเกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่น เพราะจะทำให้เลือดออก และผื่นกำเริบได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะมีอาการเด่นด้านผิวหนัง แต่จากผลการศึกษา และงานวิจัยมากมายชี้ว่าโรคสะเก็ดเงิน จริง ๆ แล้วเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถทำให้โรคสงบได้ การพบแพทย์เฉพาะทาง จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยในการรักษาให้ตรงจุด และครอบคลุม เพราะการรักษาที่ต้นเหตุจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคร่วมหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย