ภาวะอ้วนหรือโรคอ้วนในเด็ก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ใช้เวลาว่างไปกับการดูโทรทัศน์ ดูคลิปออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย
โรคอ้วนในวัยเด็กเป็นความผิดปกติที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม บทความนี้เลยอยากชวนมาทำความเข้าใจ “ภาวะอ้วนในเด็ก” กันค่ะว่า เด็กอ้วนจะเสี่ยงต่อภาวะหรือโรคอะไรได้บ้าง มีวิธีรักษา และข้อปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงสมวัย
อ้างอิงจากรายงานของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6 – 14 ปี ที่มีปัญหาโรคอ้วน และน้ำหนักเกินมีสัดส่วนมากถึง 13.4% และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.13% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงติด 1 ใน 3 ของอาเซียน โดยสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2578 ประชากรที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ภาวะอ้วนจัดเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนหรือโรคอ้วนมักจะถูกทำให้เกิดความอับอาย ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ และทำกิจกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วน และโรคอ้วน มีแนวโน้มจะอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ เป็นต้น
ภาวะอ้วนในเด็กนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ข้อสังเกต จะรู้ได้อย่างไรว่า “เด็กมีภาวะอ้วน” แล้ว ?
- น้ำหนักตัวของเด็ก สูงกว่าค่ามัธยฐานของน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก (median of weight-forheight) มากกว่า 3 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation, SD) โดยใช้เกณฑ์อ้างอิงของมาตรฐานการเจริญเติบโตของกระทรวงสาธารณสุข อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า ลูกของเรามีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักมากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนสูงนั่นเอง
- คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เพื่อประเมินว่าร่างกายของเด็กมีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยใช้สูตร ดังนี้
ตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 40 kg. ส่วนสูง 110 cm. หรือ 1.10 m.
ดัชนีมวลกาย (BMI) จะเท่ากับ 33.05 kg./m²
กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุของเด็กอายุ 0 – 5 ปี เพศชาย
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564
กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุของเด็กอายุ 0 – 5 ปี เพศหญิง
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564
กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กอายุ 6 – 19 ปี เพศชาย
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564
กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กอายุ 6 – 19 ปี เพศหญิง
ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง และขนมหวานต่าง ๆ รวมทั้งการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ
- พันธุกรรม โรคอ้วนของเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักของพ่อแม่ โดยเด็กที่มีพ่อแม่น้ำหนักเกินมักจะมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนสูงกว่า นอกจากนี้ น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังมีความสัมพันธ์กับลูกมากกว่าคุณพ่อ เพราะอาหาร และน้ำหนักตัวของคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ มีอิทธิพลต่อการควบคุมความอยากอาหารของลูก และน้ำหนักตัวในอนาคตของลูกน้อย
- การทานอาหารพลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลสูง ไขมันสัตว์ ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งแคลอรี่ส่วนเกินนั้นจะไปสะสมเป็นรูปแบบไขมัน ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้
- ไม่ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย พฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป เด็กส่วนใหญ่ ใช้เวลาไปกับกิจกรรมออนไลน์เป็นหลักหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมติดจอ และทำกิจกรรม out door ที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้จากอาหาร และพลังงานที่ใช้ของร่างกาย
- พักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนไม่หลับมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่เป็นเวลา จะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย และมีแนวโน้มจะออกกำลังกายน้อยลง ทั้งยังส่งผลต่อระดับความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียด ที่จะส่งผลให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารรสหวาน
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน
- ระบบหายใจ เนื่องจากเด็กอ้วนมักเกิดอาการนอนกรน บางรายมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งมีผลทําให้เลือดมีออกซิเจนน้อยลงขณะหลับ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโต
- ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ในเด็กที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง เช่น อาหารมัน อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู๊ด จะทําให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากเด็กที่อ้วนมักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่าย
- ทําให้เกิดโรคเบาหวาน เด็กที่อ้วนมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน และอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ทําให้เกิดโรคเบาหวานคล้ายในผู้ใหญ่ได้ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตา ไต ระบบประสาท และหัวใจตามมาได้
- ระบบทางเดินอาหาร และตับ มักจะเกิดไขมันสะสมในตับ เกิดตับอักเสบ มีปัญหาทางไต เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ทำให้เคลื่อนไหวลําบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า และหากเกิดการพลัดตกหกล้มจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน เช่น ขาโก่ง โรคหัวกระดูกข้อสะโพกเคลื่อน กระดูกหักง่าย นอกจากนี้ กระดูก และข้อต่อจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ําหนักตัวมาก
- ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีผื่นสีน้ำตาลดำหนาบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ รอยแตกบริเวณหน้าท้อง และผื่นแดงบริเวณข้อพับเกิดจากการเสียดสี
- สภาพจิตใจ มีภาวะซึมเศร้า แยกตัวจากสังคมเนื่องจากถูกล้อเลียน ทําให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่อยากเข้าสังคม
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง
พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ และใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกหลาน ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ให้ลูกรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ และสนับสนุนกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะอ้วน โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
1. ควบคุมปริมาณ และเลือกอาหารที่เหมาะสมให้เด็ก
- จัดอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ให้เขาได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการทุกมื้อ
- ลด การกินหวาน มัน เค็ม
- หลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น รวมถึงอาหารแช่แข็งพร้อมทาน และอาหารฟาสต์ฟู๊ดที่ให้พลังงานสูง
- ควบคุม การกินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ชานมไข่มุก โดยจัดเตรียมนมรสจืดไว้ในตู้เย็นแทน
- ปลูกฝัง นิสัยการกินผัก และผลไม้ โดยเน้นให้มีการทานผักกับผลไม้ไม่หวานมากขึ้น
- ดื่มน้ำ สะอาดให้เพียงพอ 6 – 8 แก้ว เป็นประจำทุกวัน
2. ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย และออกกำลังกาย เพื่อให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
- จัดกิจกรรมในครอบครัว โดยให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อลดเวลาการใช้สื่อออนไลน์ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน ท่องเที่ยว เป็นต้น
- ส่งเสริมให้เด็กวิ่งเล่น ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เช่น ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เล่นกีฬาเป็นทีม เป็นต้น
3. ให้เด็กเข้านอนตรงเวลา และพักผ่อนให้เพียงพอ การเข้านอนตรงเวลาตั้งแต่หัวค่ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และวันละ 8–10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) จะช่วยให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซม ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญพลังงาน นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง และการเจริญเติบโตสมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย
4. พาเด็กไปพบคุณหมอ และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ การตรวจสุขภาพเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองได้พบปัญหา และได้รับคำแนะนำจากคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งยังได้รับทราบเกี่ยวกับสุขภาพ และพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่ามีสิ่งใดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จะได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักตัว และการเจริญเติบโตของลูกน้อยด้วย
แม้เด็กอ้วนจะดูจ่ำม่ำ น่ารักขนาดไหน แต่ “ภาวะอ้วนในเด็ก” นั้นอันตรายกว่าที่คิดนะคะ เพราะโรคอ้วนนับเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และการเข้าสังคมของเด็ก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่รวมถึงผู้ปกครองทุกท่านควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพาเด็ก ๆ ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขาแข็งแรง มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และห่างไกลจากโรค