ทำความรู้จัก ‘ไทรอยด์’ รู้ไว้ป้องกันได้

ทำความรู้จัก ‘ต่อมไทรอยด์’ ให้มากขึ้น

ต่อมไทรอยด์มีลักษณะเหมือนผีเสื้อ อยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือก ขนาดยาวประมาณ 4 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหาร ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก โดยฮอร์โมนสำคัญที่ถูกผลิตจากต่อมไทรอยด์ คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต พัฒนาการของร่างกาย รวมไปถึงควบคุมการเผาผลาญ การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย

สัญญาณเตือนเสี่ยงไทรอยด์

แบ่งเป็นสัญญาณเตือนทางด้านร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกาย

  • อ้วนขึ้น หรือผอมลงอย่างผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • เหงื่อออกเยอะ หรือรู้สึกหนาวตลอดเวลา
  • นอนไม่หลับ หรือรู้สึกง่วงตลอดเวลา
  • หิวบ่อย หรือไม่หิว กินไม่ค่อยลง
  • สายตาพร่ามัว
  • ขับถ่ายไม่เป็นปกติ เข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง หรือมีอาการท้องผูก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • เสียงเปลี่ยน หรือมีอาการคอบวม
  • เหน็บชา หรือปวดกล้ามเนื้อไม่ทราบสาเหตุ

ทางด้านจิตใจ

  • รู้สึกซึมเศร้ามากผิดปกติ
  • กระวนกระวายใจ
  • คิดสับสน ฟุ้งซ่าน
  • อารมณ์ทางเพศลดลง

5 ประเภท ของโรคต่อมไทรอยด์

  1. ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย ส่งผลให้ฮอร์โมน Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) ถูกผลิตออกมามากเกินไปจนกลายเป็นพิษ และด้วยหน้าที่หลักของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด คือ ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อถูกผลิตออกมามากเกินไป ก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักขึ้น น้ำหนักจึงลดลงเร็วอย่างผิดปกติ รวมถึงอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน และมีอารมณ์ฉุนเฉียว
  2. ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ จะพบมากขึ้นตามอายุ ทำให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone) ออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น ทำให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้นหรือคอพอก คนไข้จะมีอาการอาการอ่อนเพลีย ผิวหยาบกร้านและแห้ง ผมแห้ง ขี้ลืม อารมณ์ผันผวน เสียงแหบ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ขี้หนาว เบื่ออาหาร กลืนลำบาก โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ การตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับน้ำแร่ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131
  3. ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
    – ชนิดกึ่งเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมไทรอยด์โต คลำบริเวณต่อไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ
    – ชนิดเรื้อรัง เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการคอโต แต่กดไม่เจ็บ หรือเคยมีประวัติคอโตแล้วยุบไปโดยไม่ได้รับการรักษา
  4. ต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid Nodule) คือ ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตอย่างเดียว แต่ยังคงสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการคอโตกว่าปกติ (คอพอก) เป็นก้อนถุงน้ำ โดยไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ มักมีสาเหตุมาจากการขาดไอโอดีน
  5. มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบก้อนโตบริเวณต่อมไทรอยด์ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เสียงแหบและกลืนลำบาก แพทย์จะตรวจโดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน และอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์เพื่อให้เห็นก้อนเนื้ออย่างละเอียด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดจากได้รับการฉายรังสีในบริเวณคอ หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

วิธีตรวจ… เพื่อเช็กความเสี่ยงโรคไทรอยด์

  • ตรวจระดับฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone) ที่สร้างจากต่อมใต้สมอง Pituitary Gland ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ Thyroid Gland สร้างฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine) ค่า TSH จะขึ้นกับระดับไทรอยด์ฮอร์โมน หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้ด้วยตัวเอง ค่า TSH จะต่ำ แต่หากไทรอยด์ฮอร์โมนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ค่า TSH จะสูง
  • ตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine) ฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไทรอยด์
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณต่อมไทรอยด์
  • ปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านไทรอยด์

วิธีการรักษาเมื่อพบความผิดปกติ จากโรคไทรอยด์

  1. รักษาด้วยยา ในระหว่างทำการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม เพราะหากรับประทานยาไม่ต่อเนื่องอาจทำให้อาการของต่อมไทรอยด์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยากต่อการควบคุม
  2. รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน มักพิจารณาใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีอาการค่อนข้างรุนแรง หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากที่รักษาด้วยยามาแล้ว
  3. รักษาด้วยการผ่าตัด วิธีนี้แพทย์มักพิจารณาเลือกเป็นขั้นตอนสุดท้าย สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากขึ้น แพ้ยาที่ใช้ในการรักษา หรือเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือด และหลอดเลือด

หากคุณรู้สึกมีอาการผิดปกติตามสัญญาณข้างต้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด และนำผลมาวินิจฉัยความเสี่ยงที่มีต่อโรคต่อไทรอยด์ เพื่อการป้องกันและรักษาได้อย่างทันเวลา


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors