ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ประเมินระดับน้ำตาล ปริมาณไขมัน ค่าการทำงานตับ ไต ลิสต์การตรวจสุขภาพประจำปี…แค่นี้เพียงพอจริงหรือเปล่า? เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ล้วนต่างเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคให้กับเราได้ การตรวจเช็กอีกตัวช่วยชี้วัดเรื่องสุขภาพ อย่าง “สมดุลฮอร์โมน” ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะ DHEAs ฮอร์โมนที่มีดีมากกว่าแค่ต้านความเครียด เพราะช่วยต้านโรคได้
ฮอร์โมน DHEAs คืออะไร มาทำความรู้จักกันก่อน!
DHEAs เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งต้นที่ร่างกายนำมาผลิตฮอร์โมนสำคัญ ๆ หลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ อย่าง เทสโทสเทอโรน หรือเอสโตรเจน โดยพบว่าระดับของฮอร์โมน DHEAs นั้น จะผลิตได้สูงสุดในช่วงอายุประมาณ 25 ปี และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อาจเฉลี่ยมากถึง 1-2% ในแต่ละปีเลยทีเดียว เพราะแบบนี้ การตรวจเช็กความสมดุลของฮอร์โมน DHEAs จึงสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเราอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
แต่ถึงแม้อายุไม่มาก หากไม่อยากให้ร่างกายแก่ก่อนวัย..ก็ควรเช็ก! เพราะ DHEAs มีคุณสมบัติที่ช่วยลดโอกาสการเกิด(หลาย)โรคให้กับคุณได้
1.ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเผาผลาญไขมัน
อาจเพราะ DHEAs เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดปริมาณไขมัน โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่ได้รับ DHEAs ปริมาณ 50 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันยาวนานประมาณ 6 เดือน ปริมาณไขมันบริเวณหน้าท้องลดลง รวมถึงผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า DHEAs ช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกายและน้ำหนักตัวได้
2.ลดโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผลการศึกษาหลายชิ้นงานพบว่า DHEAs ช่วยลดการสะสมของไขมันได้ โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้ระบุไว้ว่า ผู้ชายที่มีระดับ DHEAs ต่ำ จะมีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 48% เช่นเดียวกับอีกหนึ่งผลการศึกษาที่รายงานว่า ผู้หญิงที่ได้รับ DHEAs ปริมาณ 50 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดการสะสมของ Total cholesterol ได้ พร้อมทั้งลดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดได้อีกด้วย
3.ปรับสมดุลระบบเผาผลาญ
การเผาผลาญและดึงพลังงานไปใช้ได้อย่างสมดุล ไม่เพียงช่วยในเรื่องของการลดไขมันสะสม แต่ DHEAs ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการกับการทำงานของระบบเผาผลาญที่ผิดปกติ เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น ภาวะดื้ออินซูลิน จึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้
4.ความจำดีขึ้น ลดเสี่ยงสมองเสื่อมก่อนวัย
DHEAs อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการอัลไซเมอร์ แต่สามารถชะลอการดำเนินการของโรคให้ช้าลงได้ เนื่องจาก DHEAs ช่วยต้านการทำงานของ Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียด ซึ่งมีผลต่อการทำลายเซลล์ประสาท การปรับระดับ DHEAs ให้สมดุล จึงช่วยให้การทำงานของเซลล์ประสาทดีขึ้น ชะลอและป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
5.ฟื้นฟูอาการซึมเศร้า
จากผลการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่มีระดับ Cortisol สูง มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาในเชิงของจิตบำบัด สอดคล้องกับผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า การทดลองรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ DHEAs ติดต่อนาน 6 เดือน พบว่าคะแนนทดสอบภาวะซึมเศร้าดีขึ้น 48-72% รวมทั้งประสิทธิภาพการทำงานของสมองด้านความจำก็ดีขึ้นถึง 63% อีกด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า อาจเป็นเพราะ DHEAs เป็นฮอร์โมนที่ช่วยต้านการทำงานของ Cortisol ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดภาวะซึมเศร้านั่นเอง
6.เสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก
Catherine M. Jankowski ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย และรองศาสตราจารย์วิทยาลัยพยาบาล มหาวิทยาลัยโคโลราโด และทีมวิจัย ได้ทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 55-85 ปี จำนวน 486 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีมวลกระดูกต่ำ หญิง 138 คน และชาย 98 คน และอีกกลุ่มหนึ่ง คือผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุน หญิง 29 คน และชาย 11 คน ซึ่งหลังจากกลุ่มทดลองที่ได้รับการเสริม DHEA และได้รับยาหลอก เป็นระยะเวลา 12 เดือน พบว่า.. การบำบัดด้วย DHEA มีความสัมพันธ์กันกับระดับมวลกระดูกที่เพิ่มขึ้น ทั้งบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว สะโพก และ trochanter (ส่วนที่อยู่ถัดจากคอกระดูกที่เป็นแกนกระดูกเชื่อมต่อกับหัวกระดูกสะโพก) ในผู้หญิง และด้วยผลจากการทดลองที่ได้นี้ Catherine M. Jankowski จึงคาดการณ์ว่า การเสริมฮอร์โมน DHEA อาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกพร้อมทั้งเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในผู้หญิงได้
ในร่างกายเรานั้นมีฮอร์โมนอยู่หลายชนิดและมีคุณสมบัติต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าฮอร์โมนตัวไหนก็ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ การตรวจสุขภาพที่ครอบคลุม จึงไม่ใช่แค่ตรวจเลือด ตรวจหัวใจ แต่ควรตรวจลงลึกถึงระดับสมดุลฮอร์โมนควบคู่ไปด้วย เพื่อประเมินความเสี่ยง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และบำบัดได้ทัน…ก่อนที่จะเกิดโรค