มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง… หากพูดถึงมะเร็งในผู้หญิง ชื่อที่เรามักคุ้นหูคงหนีไม่พ้น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูก แต่อีกหนึ่งโรคมะเร็งอย่าง “มะเร็งรังไข่” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายที่สาว ๆ ต้องเฝ้าระวัง เพราะมักไม่มีสัญญาณเตือน หรืออาการบ่งชัด แต่สามารถรู้ทันป้องกันโรคด้วยการตรวจภายใน หรือทำอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิด “มะเร็งรังไข่”
มะเร็งรังไข่เป็นโรคในผู้หญิงที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
- เริ่มมีประจำเดือนเร็วคือก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี เพราะหากฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกผลิตมากเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้
- มีคนในครอบครัว หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเต้านม
- ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ในกลุ่ม BRCA1 และ BRCA2 จากการตรวจเลือด ซึ่งหากพบความผิดปกติ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ที่ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ผู้ที่มีบุตรยาก และมีการใช้ยากระตุ้นการตกไข่นานต่อเนื่องเกินกว่า 12 เดือน
- เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
- ผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรมาก่อน
- มีประวัติการรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่
สัญญาณเตือนที่ต้องตรวจ เฝ้าระวัง “มะเร็งรังไข่”
ในระยะแรก มะเร็งรังไข่มักจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่คุณผู้หญิงสามารถเริ่มต้นสังเกตุด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ดังนี้
- มีอาการท้องอืด, แน่นท้อง
- ท้องบวม หรือท้องแข็ง
- ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
- คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย
- ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือกลั้นไม่อยู่
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ซึ่งหากสังเกตเห็นว่าตัวคุณเองมีความผิดปกติตามสัญญาณเตือนข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว เพราะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะแรกมักจะไม่มีอาการ และเมื่อตรวจพบ มะเร็งรังไข่ก็เริ่มลุกลามไปแล้ว
ทำไม? สาวโสด ถึงเสี่ยงมะเร็งรังไข่
เมื่อการเกิดมะเร็งรังไข่นั้นดูจะสัมพันธ์กับการตกไข่ เพราะฉะนั้นคนที่เรียกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรง ก็คือคนที่มีภาวะตกไข่อยู่เป็นประจำ หรือสาว ๆ ที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งเมื่อมีการตกไข่ บริเวณนั้นก็จะเป็นแผล เมื่อเกิดแผลซ้ำ ๆ ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงได้มากขึ้น หรือคนที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน ไม่ว่าจะมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก คนกลุ่มนี้ก็อาจมีความผิดปกติในระดับยีน มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีน จนอาจกลายเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน
วิธีการตรวจวินิจฉัยและการรักษามะเร็งรังไข่
การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูก แพทย์จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้น ๆ โดยทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) บางกรณีที่ต้องการตรวจประเมินอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้อง อาจมีการส่งตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI นอกจากนั้นจะต้องมีการเจาะเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและตรวจติดตาม หรือการตรวจเลือดเชิงลึกถึงระดับยีน (BRCA) ก็สามารถนำผลมาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงได้
ส่วนในการรักษานั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของโรค, สุขภาพของผู้ป่วยในขณะนั้น ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการ และเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละคนอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปแล้วการรักษามะเร็งรังไข่ มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธี ประกอบไปด้วย การผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัด, การให้ยารักษา, การใช้รังสีรักษา และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ในระยะแรก ก็มีโอกาสที่จะรักษาหายถึง 90% และได้ผลการรักษาที่ดี
มะเร็งรังไข่ ลดเสี่ยง เลี่ยงการเกิดได้อย่างไร?
ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ ด้วยการดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ เริ่มต้นจากการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารโดยเน้นให้มีผักและผลไม้เป็นประจำในทุก ๆ มื้อ และทุก ๆ วัน หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ เพราะในบางครั้งหากรับประทานเนื้อสัตว์มาก ๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมในการก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมตรวจสุขภาพประจำปี และหมั่นตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ