ข้อมูลแพทย์

นพ.มาโนช พานทองวิริยะกุล

  • สาขา:ศัลยศาสตร์
  • ภาษา:ไทย อังกฤษ
สาขา
  • แพทยศาสตร์บัณฑิตคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
  • วุฒิบัตร ศัลยศาสตร์โรงพยาบาลพระปกเกล้า

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.มาโนช พานทองวิริยะกุล

“การเป็นศัลยแพทย์ จะมีความพิเศษในการรักษาคนไข้อยู่อย่างหนึ่ง คือคนไข้มักมาด้วยอาการค่อนข้างรุนแรงและน่ากลัว การที่เราได้ช่วยคนไข้หนักให้รอดชีวิต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรืออย่างน้อยก็มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงเดิมได้มากที่สุด ในฐานะแพทย์ก็รู้สึกภูมิใจและมีความสุข โดยเฉพาะเวลาได้เห็นคนไข้และญาติคนไข้เขากลับมายิ้มได้อีกครั้ง”

หลังจาก นพ.มาโนช พานทองวิริยะกุล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว คุณหมอได้ศึกษาต่อยอดวุฒิบัตรศัลยแพทย์ ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันคุณหมอเป็นศัลยแพทย์ ประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

“สมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ทุกคนก็จะได้มีโอกาสฝึกงานในทุกแผนก ซึ่งหมอเองรู้สึกชอบและมีความถนัดในการทำหัตถการ (การผ่าตัด) คือพอได้ลงมือปฏิบัติจริง พบว่าตนเองใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ได้ดี มีความกล้าและเข้าใจในการทำงาน และมีความสุขที่ได้รักษาคนไข้ให้หายจากโรคแบบที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อรู้ว่าศาสตร์นี้เข้ากับตัวเองมากที่สุด เมื่อมีโอกาสจึงไม่ลังเลที่จะศึกษาต่อยอดในด้านนี้” 

ศัลยแพทย์ ดูแลหลากหลายโรคและการผ่าตัด

ด้วยความที่คุณหมอมาโนช เป็นศัลยแพทย์ที่เคยอยู่ประจำโรงพยาบาลรอบนอกและโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ มาอย่างยาวนาน คุณหมอจึงมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้อย่างครอบคลุมแทบทุกโรค  ทั้งยังได้ใช้ศาสตร์และเครื่องมือทางการแพทย์แทบจะทุกอย่าง รวมถึงการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้คุณหมอสามารถดูแลคนไข้ได้อย่างรอบด้าน…

“ปัจจุบัน คนไข้ที่หมอดูแลรักษามากสุดเลย ก็คือคนไข้กลุ่มอุบัติเหตุ คิดเป็นประมาณ 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% ก็จะเป็นรักษาโรคทั่วไป อย่างโรคทางอายุรกรรมที่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดรักษา เช่น ลำไส้ทะลุ ถุงน้ำดีอักเสบ หรือคนไข้ที่มีโรคอื่นๆ ร่วมเยอะแล้วจำเป็นต้องผ่าตัด หมอก็จะเป็นคนรักษาให้” 

หัวใจสำคัญในการดูแลคนไข้ของศัลยแพทย์

ปกติแล้ว เมื่อคนไข้ทราบว่าจะต้องเข้ารับการผ่าตัดก็มักมีความกังวลและอยากให้การรักษาเสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว ไม่อยากต้องมาผ่าตัดซ้ำๆ หลายๆ เพราะไม่อยากเจ็บตัวบ่อยๆ…

“จุดนี้ หมอถือเป็นหัวใจสำคัญของศัลยแพทย์อย่างหนึ่ง หมอจะต้องพิจารณาและวางแผนการผ่าตัดให้ดี เพื่อให้เป็นการรักษาที่เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว ยิ่งในคนไข้บางรายที่มีอาการของโรคหลายอย่างร่วมกัน แพทย์ก็ต้องวางแผนและลำดับความสำคัญ เพื่อให้ขั้นตอนการรักษาและการผ่าตัดได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไข้ การเตรียมความพร้อมของทั้งตัวหมอและคนไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ” 

ผ่าตัดคนไข้อุบัติเหตุหนัก คือความท้าทายในการรักษา

เนื่องจากโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ถนนใหญ่ และเขตโรงงานอุตสาหกรรมจึงมักมีผู้ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งหากเป็นเคสอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บของอวัยวะหลายๆ ส่วนร่วมกัน ก็อาจทำให้ต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง โดยรักษาไปในแต่ละจุด เพราะการผ่าตัดในครั้งหนึ่งๆ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้ด้วย…

“คนไข้บางราย ต้องอยู่โรงพยาบาลนานหลายเดือน เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุรุนแรงมาก แต่ด้วยเราทำงานกันเป็นทีมที่เรียกว่า สหสาขาวิชาชีพ จึงมีความพร้อมทั้งในด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่แทบทุกสาขา การร่วมกันดูแลรักษาที่ดีจึงทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้น หรือหายจากความเจ็บป่วยได้ดี หมอทุกคนก็มุ่งหวังให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ แม้จะต้องใช้เวลารักษาและการฟื้นตัวนานก็ตาม”

เครื่องมือและนวัตกรรมที่ดี เพิ่มคุณภาพการรักษา

นอกเหนือจากเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยขั้นพื้นฐานแล้ว ทางโรงพยาบาล ยังมีอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เริ่มตั้งแต่การตรวจอาการของคนไข้ ที่สามารถทำได้ในเชิงลึกและมีความแม่นยำ เห็นรอยโรคและการบาดเจ็บที่ชัดเจน เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เครื่องอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่นี่ก็มีอย่างครบครัน รวมทั้งเครื่องมือพื้นฐานในห้องผ่าตัด และเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการศัลยกรรรมด้วยการส่องกล้อง…

“เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดีมีความสำคัญมาก อย่างในอดีต สมัยที่หมอเป็นแพทย์ใหม่ๆ เวลาตรวจคนไข้และดูข้อมูลจากผลเอกซเรย์ธรรมดาๆ มันก็ไม่ชัดเจนว่าควรจะผ่าตัดหรือไม่ เพราะข้อมูลที่ได้นั้นไม่ละเอียดพอ แต่ปัจจุบัน หมอจะเห็นผลตรวจที่ชัดเจน การวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่และต้องผ่าจุดไหนจึงแม่นยำมากๆ เราสามารถตรวจได้ทั้งจากการส่องกล้อง และนำผลวินิจฉัยจากแผนกอื่นๆ มาประมวลเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการรักษา จึงมีความแน่นอนสูง ทั้งยังลดความเสี่ยงกับผลข้างเคียง เมื่อทุกอย่างพร้อม มีข้อมูลที่ถูกต้อง ผลการผ่าตัดก็จะออกมาดีกว่าด้วย เครื่องมือจึงเปรียบเสมือนเครื่องอำนวยความสะดวกให้หมอรักษาคนไข้ได้ง่ายและตรงเป้ามากขึ้น ผลการรักษาจึงดีขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก” 

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง