ข้อมูลแพทย์

นพ.วิศรุต ตปนียากร

  • สาขา:กุมารเวชกรรม
  • ภาษา:ไทย อังกฤษ
สาขา
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • กุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทสัมภาษณ์แพทย์

นพ.วิศรุต ตปนียากร

“การดูแลรักษาคนไข้เด็ก ไม่ได้เป็นแค่การดูแลรักษาให้หายจากโรคเท่านั้น เพราะเด็กจะมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราละเลยในส่วนนี้ หรือทำอะไรผิดพลาดก็เปรียบเสมือนการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดต่อๆ ไปก็จะผิดเพี้ยนไปหมด สุดท้ายเราก็ใส่เสื้อไม่ถูกต้อง ดังนั้นหมอจึงให้ความสำคัญทั้งในการดูแลรักษาและการป้องกันโรคตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงอย่างมีคุณภาพ เพราะหมอเชื่อว่าการป้องกันและการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ดีกว่าไปแก้ไขเอาตอนปลาย ซึ่งบางอย่างจะแก้ไม่ได้แล้วเมื่อเวลาผ่านไป”

หลังจาก นพ.วิศรุต ตปนียากร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นแพทย์ใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว คุณหมอได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการศึกษาว่า…

“หมอตั้งใจเป็นหมอเด็ก เพราะเด็กจะมีความสดใส รู้สึกมีความสุขที่ได้ใช้เวลากับเด็กๆ ได้ดูแลพวกเขา ประการสำคัญ ถ้าเราช่วยให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ต่อไปเค้าก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศได้ดี ดังนั้นพอหมอเรียนจบแพทย์และใช้ทุนครบแล้ว หมอจึงเข้าศึกษาต่อด้านกุมารเวชศาสตร์ นอกจากนี้ก็ยังไปดูงานเพิ่มเติมด้านกุมารเวชที่ประเทศอังกฤษอีก 1 เดือน ซึ่งถ้าพูดถึงความรู้ของหมอเด็กในประเทศไทย เราก็มีมาตรฐานทัดเทียมกับเขา แต่ที่นั่นเขาจะเน้นการทำงานเป็นทีมโดยแพทย์สหสาขาวิชาชีพ และดูแลคนไข้แบบองค์รวม คือหมอที่อังกฤษค่อนข้าง take times กับคนไข้ ใช้เวลาในแต่ละเคสค่อนข้างนาน จุดนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่หมอได้นำมาปรับใช้ในการดูแลเด็กๆ เพราะเมื่อเราให้เวลากับคนไข้นานขึ้น เราก็จะรับรู้ปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น การรักษาก็จะลงลึกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหมอก็ดูแลรักษาเด็กๆ มากว่า 10 ปีแล้ว”

โรคที่พบบ่อยในคนไข้เด็กที่คุณหมอรักษา

คุณหมอวิศรุต จะดูแลรักษาในโรคทั่วๆ ไปของเด็กๆ ซึ่งที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ก็จะเป็นกลุ่มเด็กปกติที่ไม่ได้ป่วย แต่ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อดูพัฒนาการ และฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ซึ่งที่โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา จะมีการจัดโปรแกรมการฉีดวัคซีนเป็นแพ็กเกจ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก…

“หมอเด็ก จะแตกต่างจากหมอแขนงอื่นๆ ที่ต้องมีการทำหัตถการหรือศัลยกรรม หมอเด็กจะไม่ได้ใช้เครื่องมืออะไรมากมายในการดูแลรักษาคนไข้ ส่วนใหญ่การวินิจฉัยโรคจะเน้นการซักประวัติอย่างลึกซึ้งและการส่งตรวจแล็บ ประสบการณ์ของแพทย์และความใส่ใจจะช่วยให้มีการวินิจฉัยคนไข้ได้อย่างแม่นยำ แม้บางครั้งคนไข้อาจไม่ได้พูดออกมา แต่หมอก็จะดูจากอวัจนภาษา และการพูดคุยกับผู้ปกครองที่ดูแลเด็ก เทคโนโลยีอาจจะไม่ต้องใช้มาก คือจะใช้เมื่อจำเป็น แต่ที่ต้องใช้มากคือความใส่ใจต่อคนไข้และการดูข้อมูลประวัติที่ต้องแม่นยำ ครบถ้วน ไม่ตกหล่น เพราะเราจะดูแลกันอย่างต่อเนื่องจนเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ การรักษาเด็กจะต้อง do no harm คือไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวดมากขึ้นกว่าที่เป็นมา ยึดเรื่องสุขภาพและประโยชน์ของคนไข้เป็นอันดับหนึ่ง”

เด็กรุ่นใหม่ เสี่ยงป่วยมากขึ้นจากพฤติกรรม

ในอดีต โรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตมักจะแสดงผลในตอนสูงอายุ แต่ด้วยปัจจุบันเด็กๆ ส่วนหนึ่งจะขาดการออกกำลังกาย การเล่นกลางแจ้ง เพราะด้วยมีเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือหรือการใช้แท็บเล็ตค่อนข้างมาก…

“หมอขอยกตัวอย่างเคสหนึ่ง คือเด็กมาด้วยอาการปวดท้องมาก และไม่ปัสสาวะเลยสามวัน ผู้ปกครองก็มีความร้อนใจมาก ตัวเด็กเองก็มีอาการกระวนกระวาย ร้องงอแง การตรวจร่างกายเบื้องต้นก็ยังไม่พบอะไรผิดปกติ แต่เมื่อได้ซักประวัติและเรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กแล้ว หมอก็สงสัยและให้นำเอาปัสสาวะไปตรวจ ซึ่งก็จริงอย่างที่คาด คือเด็กมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สาเหตุก็เพราะเด็กติดการเล่นเกมจึงกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เคสนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ซับซ้อนหรือรักษายากอะไร แต่ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจฟังพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมของคนไข้อย่างลึกซึ้ง ไม่สอบถามกิจวัตรประจำวันของตัวเด็กให้แน่ใจ อาจต้องมีการวินิจฉัย ตรวจแล็บอะไรมากมายวุ่นวายเกินจำเป็น และรอผลนาน ทั้งๆ ที่เด็กเป็นแค่กระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่านั้นเอง”

ตรวจรักษาอย่างเข้าใจ ในธรรมชาติของเด็ก

ในการตรวจร่างกายและซักประวัติเด็กๆ คุณหมอวิศรุต จะใช้หลักจิตวิทยาเด็กในการสร้างความเป็นมิตร เข้าหาอย่างเพื่อน ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล เพราะเด็กๆ จะไม่ชอบคนเสียงดังหรือเสียงดุ ถ้าเป็นเคสที่ร้องงอแงมากๆ ก็จะมีการชวนคุยชวนเล่นก่อน ไม่เข้าหาแบบจู่โจมหรือรีบร้อนที่จะตรวจเกินไป ในห้องตรวจก็จะมีพวกตุ๊กตาเล็กๆ สติกเกอร์สีสันต่างๆ ที่เด็กๆ ชอบ เป็นของที่เอาไว้เล่นหรือมอบให้ เมื่อเด็กมีความสุขก็จะเกิดความไว้ใจ สามาถให้คุณหมอทำการตรวจร่างกายได้อย่างสะดวก และตอบคำถามต่างๆ ที่คุณหมอถามอย่างเต็มใจ อันจะทำให้ได้ข้อมูลในการวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น

ข้อมูลสุขภาพ

แพทย์ผู้เกี่ยวข้อง