โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใดเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ปีละกว่า 13,000 คน หรือเฉลี่ยมากถึงวันละ 37 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะที่เกิดคือ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน (Ischemic stroke)
- โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)
การเฝ้าระวังและการรู้จักสังเกตอาการของโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อพบอาการแม้แค่เริ่มต้น ก็ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะเสียชีวิตหรือพิการก็จะยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น
โรคหลอดเลือดสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สมองจะได้รับความเสียหายมากจนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมสั่งการให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ หากรุนแรงมากผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิตอาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่คนในครอบครัวจะต้องคอยดูแลตลอดไป
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน ยิ่งมีหลายปัจจัยก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น เช่น
1.ปัจจัยในเรื่องวัย และความเสื่อมของร่างกาย
โดยในผู้สูงอายุจะพบว่า เส้นเลือดมักมีไขมันหรือหินปูนเกาะ ทำให้ทางเดินในหลอดเลือดแคบลง และเลือดไม่สามารถไหลผ่านได้สะดวกนัก การเกิดภาวะที่เลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติก็จะทำให้มีลิ่มเลือด มีการจับตัวของเม็ดเลือดได้ง่ายกว่าคนปกติในวัยหนุ่มสาว แม้กระทั่งในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจมีลิ่มเลือดตกค้างในหัวใจ และหลุดไปอุดตัดเส้นเลือดในสมองได้
2.ปัจจัยด้านสุขภาพจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน
โดยผู้ที่มีภาวะไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือด มักจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนอาการจากโรคเบาหวานก็เสี่ยงที่หลอดเลือดจะแข็งทั่วทั้งร่างกาย ทำให้มีโอกาสหลอดเลือดตีบสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า และในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงก็ต้องระวัง เพราะมีภาวะเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดในสมองตีบสูงกว่าคนทั่วไปเช่นกัน
3.ปัจจัยจากพฤติกรรม
อย่างการสูบบุหรี่ ก็มีผลทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 3.5% ในขณะที่สตรีที่ทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ ก็จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้
5 สัญญาณเตือน อาการโรคหลอดเลือดสมอง
หากพบผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ เหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่คือ “5 สัญญาณเตือน อาการโรคหลอดเลือดสมอง” ที่ต้องรีบรักษา ซึ่งประกอบด้วย
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินโซเซ คล้ายคนเมาสุรา
- รู้สึกแขนขาไม่มีแรง ชาบริเวณแขนขาข้างใดข้างหนึ่งแบบทันทีทันใด หรืออ่อนแรงทั้งแขนและขาในซีกเดียวกัน
- เห็นภาพซ้อน สายตามัว หรือตาบอดข้างเดียว หรือมองเห็นภาพเพียงครึ่งซีก
- ปากเบี้ยว มุมปากตก จะสังเกตได้ชัดเมื่อให้ผู้ป่วยยิงฟันหรือยิ้ม น้ำลายไหล กลืนอาหารลำบาก การพูดผิดปกติ อาจพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ ตอบคำถามที่ปกติทราบดีแต่คิดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษาแบบทันทีทันใด
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และอาจมีอาเจียน หรือหมดสติแบบทันทีทันใด
จะป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
โรคหลอดเลือดสมอง หากเกิดอาการฉับพลันต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด แต่เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลืองสมอง เราสามารถทำได้ดังนี้
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้สูงวัย
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ลดการกินหวาน เพราะหากมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวและตีบแคบ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและไปเลี้ยงสมองไม่พอ สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
- เลือกบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง ไขมันต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง ก้อนไขมันจะมาเกาะติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวแข็งขึ้น หลอดเลือดจะตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ในที่ที่ต้องรับควันบุหรี่ เนื่องจากควันของบุหรี่จะเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ปอด หัวใจ และหลอดเลือด
เมื่อใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท หมั่นดูแลสุขภาพอยู่เสมอ ก็เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทบจะทุกโรค อย่างไรก็ตาม หากพบสัญญาณเตือนจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองดังที่กล่าวมา ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะการได้รับการรักษาโดยเร็วภายใน 3 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ จะยิ่งเพิ่มโอกาสหายดีได้มากยิ่งขึ้น