ลืมขั้นตอนยุ่งยาก! ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารผ่านลมหายใจ UBT

เชื้อเอช.ไพโลไร หรือ Helicobacter Pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่ภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งบางรายอาจไม่มีอาการ เชื้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญของ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และสามารถพัฒนากลายเป็น โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านทางน้ำลาย จากการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่

องค์การอนามัยโลกจัดให้เชื้อเอช.ไพโลไร เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่ และไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้น การกำจัดเชื้อให้หมด จึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้

อาการต้องสงสัยคุณอาจติดเชื้อเอช.ไพโลไร

  1. เบื่ออาหาร เรอบ่อย
  2. ปวดแน่นท้อง ท้องอืด
  3. จุกเสียดลิ้นปี่
  4. อาหารไม่ย่อย
  5. คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยผิดปกติ
  6. รับประทานอาหารแล้วรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ

3 อาการคุณอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร

  1. อาเจียนเป็นเลือด
  2. อุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระสีดำเหนียวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
  3. มีภาวะโลหิตจาง

วิธีการตรวจหาเชื้อเอช.ไพโลไร (H. Pylori)

การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย (เอช.ไพโลไร) ในกระเพาะอาหารนั้นมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การตรวจทางลมหายใจ(UBT), การตรวจชิ้นเนื้อที่ได้จากการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy), การเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ, การตรวจอุจจาระหาแอนติเจนของเชื้อ เป็นต้น

การตรวจหาเชื้อเอช.ไพโลไรด้วยวิธีเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test)

เป็นการตรวจหาเชื้อเอช.ไพโลไรในกระเพาะอาหารจากการวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (13-CO) ทางลมหายใจที่เกิดจากปฏิกิริยาของเชื้อเอช.ไพโลไร โดยใช้ในการตรวจคัดกรอง และติดตามการรักษาได้เป็นอย่างดี การทดสอบด้วย UBT เป็นวิธีการที่ได้การรับรองมาตรฐานสากลที่มีความแม่นยำ และความปลอดภัยสูง

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อเอช.ไพโลไรแบบ UBT

  • สามารถประเมินการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร
  • ไม่มีความเจ็บปวด และไม่ใช้สารรังสี
  • ปลอดภัยต่อเด็ก และสตรีมีครรภ์
  • ติดตามผลการรักษาได้แม่นยำ
  • ทราบผลภายใน 45 นาที
  • มีความจำเพาะมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ UBT

  1. งดยาปฏิชีวนะทุกชนิด ก่อนการตรวจอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  2. งดยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม PPI (Proton Pump Inhibition) และยาเคลือบกระเพาะอาหาร ก่อนการตรวจอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  3. งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนตรวจอย่างน้อย 3 วัน
  4. งดอาหาร เครื่องดื่ม ก่อนการตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง
  5. งดอาหารกลุ่มที่มียูเรียสูง เช่น น้ำอ้อย น้ำสับปะรด ข้าวโพด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบจากแป้งข้าวโพด อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  6. งดการสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมง เนื่องจากควันบุหรี่ที่อยู่ในปอดจะรบกวนคาร์บอนไดออกไซด์
  7. หลังเสร็จสิ้นการตรวจ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหาร และยาได้ตามปกติ และรอฟังผลการตรวจได้ทันที

ขั้นตอนการตรวจ UBT

  1. เป่าลมหายใจลงในถุงใบแรกจนเต็มถุงปิดถุงให้สนิท
  2. กลืนยาที่ละลายในน้ำเปล่าที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ทันที
  3. นั่งอยู่กับที่ 30 นาที
  4. เป่าลมหายใจลงในถุงตัวอย่างที่ 2 จนเต็มถุงและปิดถุงให้สนิท
  5. เจ้าหน้าที่นำส่งถุงตัวอย่างทั้ง 2 ใบ ให้ห้องห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ผล
  6. รอผลการตรวจ 45 นาที

โรคแผลในกระเพาะอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย H.pylori นั้นสามารถรักษา และมีโอกาสหายขาดได้ การกำจัดเชื้อให้หมดนั้นเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors