กระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่เนื้อกระดูกลดลงและโครงสร้างภายในเนื้อกระดูกเปลี่ยนแปลง ทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่ายแม้แต่การประสบอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
ธรรมชาติของเนื้อกระดูกของคนเรานั้นจะค่อยๆ สะสมตั้งแต่แรกเกิดจนมีความหนาแน่นของกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 30 ปี จากนั้นเนื้อกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ ปกติแล้วความแข็งแรงของกระดูกจะขึ้นอยู่กับขนาดและความแน่นของเนื้อกระดูก ซึ่งความหนาแน่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนแร่ธาตุในกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น หากกระดูกมีแร่ธาตุน้อยก็จะไม่ค่อยแข็งแรง
การสลายตัวของกระดูก
กระดูกของคนเรามีธรรมชาติที่ต้องสลายและเกิดใหม่ตลอดเวลา โดยรอบหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่พออายุมาก การสลายจะมากกว่าการสร้างใหม่ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน คืออายุประมาณ 50 ปีเป็นต้นไป เนื้อกระดูกจะลดลงมากกว่าผู้ชายในอายุที่เท่ากันประมาณ 5-10 ปี หลังจากนั้นผู้หญิงและผู้ชายจะมีอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกเท่าๆ กัน
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- เพศ : เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย
- อายุ : อายุที่มากขึ้นหลัง 30 ปี กระดูกจะบางลงเรื่อยๆ
- รูปร่าง : คนที่รูปร่างเล็กและผอมบาง กระดูกจะบางกว่าคนรูปร่างปกติ
- การบริโภค : การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนทำให้กระดูกพรุนเร็วขึ้น
- พฤติกรรม : สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นสาเหตุให้กระดูกบางมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด : เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นกระดูกพรุน?
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก การวินิจฉัยกระดูกพรุนจะใช้วิธีวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยวิธีเอกซเรย์แบบ Dual-energy X-ray absorbtiometry (DEXA) ซึ่งมักทำได้เฉพาะในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ โดยจะมีการอ่านความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นที-สกอร์ (T-Score) ดังนี้
- T-Score ตั้งแต่ -1 ขึ้นไป เป็นปกติ
- T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 เป็นกระดูกบาง
- T-Score -2.5 หรือต่ำกว่า เป็นกระดูกพรุน
หากค่า T-Score ต่ำ ยิ่งมีโอกาสเกิดกระดูกหักมาก แต่ความเสี่ยงกระดูกหักก็ยังมีปัจจัยร่วมอื่นๆ อีกหลายปัจจัย ดังนั้น การตัดสินใจรักษาภาวะกระดูกพรุน แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักด้วย
การใช้ยารักษากระดูกพรุน ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง
องค์การอนามัยโลกได้ออกแบบเครื่องมือประเมินความเสี่ยงของกระดูกหัก เรียกว่า FRAX โดยเอาปัจจัยเสี่ยงกระดูกหัก ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มาก การได้ยาสเตียรอยด์ ประวัติเคยกระดูกหัก ประวัติพ่อแม่เคยกระดูกสะโพกหัก การเป็นโรคที่ทำให้กระดูกพรุน เช่น เบาหวาน ไฮเปอร์ไทรอยด์ การเป็นโรครูมาตอยด์ มาคำนวณร่วมกับค่าทีสกอร์ที่ได้จากการตรวจความหนาแน่นกระดูก ออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของโอกาสที่จะเกิดกระดูกจะหักในอีกสิบปีข้างหน้า เพื่อให้แพทย์ใช้เป็นแนวทางในการเลือกยารักษาภาวะกระดูกพรุนได้อย่างเหมาะสมขึ้น
อาการกระดูกพรุนที่ไม่เจ็บปวด
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงออกว่าเจ็บปวด แต่จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกแตกหักง่าย ถึงแม้ความแรงจากอุบัติเหตุจะไม่มาก บริเวณกระดูกที่หักง่าย คือ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง ซึ่งในผู้สูงอายุมักจะมีอาการปวดหลังและหลังโก่ง เนื่องจากกระดูกสันหลังแตกทรุดเพียงแรงกระแทกเบาๆ ได้
การตรวจหาสภาวะกระดูกพรุน
1. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density Scan) เป็นการวัดหาค่าความหนาแน่นของกระดูกบริเวณที่หักง่าย เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ค่าที่วัดได้จะนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน
2. การตรวจทางชีวเคมีของกระดูก (Biochemical Bone Markers) เป็นการตรวจจากเลือด เพื่อดูการสร้างและสลายกระดูกว่าสมดุลกันหรือไม่ ถ้าการสร้างน้อยกว่าการสลายมาก กระดูกจะบางและพรุนในที่สุด
การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
1.การรักษากระดูกพรุนโดยไม่ใช้ยา เช่น
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง กะปิ ผักคะน้า ใบยอ ดอกแค เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง และงาดำ
- ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินไกล วิ่งเหยาะๆ รำมวยจีน เต้นรำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ลดลง หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ และยาลูกกลอน
2.การรักษากระดูกพรุนโดยใช้ยา เช่น
- เสริมแคลเซียมและวิตามินดี
- ยากลุ่มฮอร์โมน
- แคลซิโตนิน
- ยากลุ่มบิสฟอสฟอร์เนต