การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram หรือ EKG เป็นวิธีการตรวจหาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่ง่ายและได้ผลดี สามารถบอกความผิดปกติของหัวใจได้ในเบื้องต้นหลายอย่าง อันนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่เฉพาะเจาะจงได้ดียิ่งขึ้น
หลายโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น การตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจสุขภาพหัวใจจะช่วยให้พบปัญหาและแนวโน้มที่อาจเป็นอันตรายในอนาคต เมื่อพบความเสี่ยงตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แพทย์จะได้วางแนวทางการป้องกันให้กับคนไข้ หรือหากตรวจพบความผิดปกติแบบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โอกาสหายและดีขึ้นได้ก็จะมีมากกว่าการตรวจพบเมื่ออาการลุกลามไปมากแล้ว
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจ
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง หรืออายุน้อยกว่า 40 แต่มีความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย
- ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ทานอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม หรืออาหารไขมันสูง ของทอด อาหารแปรรูป
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือผู้ที่ใกล้ชิดแล้วได้รับควันบุหรี่มือสอง
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร?
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram หรือ EKG เป็นวิธีการตรวจหาโรคหัวใจที่ง่ายและได้ผลดี สามารถบอกถึงความผิดปกติของหัวใจได้ในเบื้องต้น อันนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อีกหลายประการ ซึ่งการตรวจด้วย EKG นี้ เราสามารถพบความผิดปกติต่างๆ ได้ก่อน เช่น
- ภาวะความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะต้องใช้วิธีตรวจสุขภาพหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การวิ่งสายพาน หรือ Exercise Stress Test
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด
- การเต้นหัวใจผิดปกติ
- เกลือแร่ผิดปกติ เช่น โปแตสเซี่ยมสูงไป หรือต่ำไป
แพทย์จะให้คนไข้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพหัวใจเบื้องต้นว่าปกติดีหรือไม่
- ตรวจเช็กร่างกาย หากคุณมีโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก และแพทย์สงสัยว่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- เมื่อสงสัยว่ากล้ามเนื้อหัวใจจะหนา
- ติดตามผลการรักษา หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆ
- ตรวจดูเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ฝังไว้ ว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่
วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
ผู้ทำการตรวจจะนำเอาสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ บริเวณหน้าอก แขน และขา สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กนี้จะมีสายต่อเข้าไปที่เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจลงบนกระดาษ ขั้นตอนการตรวจนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
การตรวจ EKG หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจที่ง่าย สะดวก ไม่เจ็บ ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวมาเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร สามารถเข้ารับการตรวจได้ตลอดเวลา นอกจากการตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจแล้ว เราสามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดี ร่างกายแข็งแรงขึ้น และเป็นการคลายความเครียดไปในตัวอีกด้วย