การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ ใช้ตรวจหาความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจ ปริมาณเลือดที่สูบฉีดในการบีบตัวของหัวใจ เห็นรอยโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจ

หลายโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น การตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจสุขภาพหัวใจจะช่วยให้พบปัญหาและแนวโน้มที่อาจเป็นอันตรายในอนาคต

เมื่อพบความเสี่ยงตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แพทย์จะได้วางแนวทางการป้องกันให้กับคนไข้ หรือหากตรวจพบความผิดปกติแบบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โอกาสหายและดีขึ้นได้ก็จะมีมากกว่าการตรวจพบเมื่ออาการลุกลามไปมากแล้ว

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจ

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง หรืออายุน้อยกว่า 40 แต่มีความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ทานอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม หรืออาหารไขมันสูง ของทอด อาหารแปรรูป
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือผู้ที่ใกล้ชิดแล้วได้รับควันบุหรี่มือสอง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ  
  • ผู้ที่ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)

การตรวจหัวใจวิธีด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงนี้ มักเรียกสั้นๆ ว่าการทำ “เอคโค่” เป็นการใช้คลื่นเหนือเสียงที่เรียกว่าอัลตราซาวด์ความถี่สูงส่งไปยังบริเวณหัวใจ แล้วรับเสียงที่สะท้อนกลับมาเพื่อสร้างเป็นภาพของหัวใจและหลอดเลือดไปปรากฏบนจอภาพ บันทึกเป็นวิดีโอหรือบันทึกลงบนกระดาษ

เมื่อเคลื่อนหัวอ่านไปตามบริเวณต่างๆ ก็จะได้ภาพหัวใจและหลอดเลือดสำคัญๆ ทั้งหมด เห็นภาพการทำงานทั้งขณะหัวใจบีบตัว คลายตัว การไหลเวียนของเลือด การเปิดปิดของลิ้นหัวใจ

การตรวจโดยวิธีนี้ นอกจากใช้หัวตรวจจากบริเวณผนังทรวงอกด้านนอกแล้ว ยังอาจใส่หัวตรวจผ่านเข้าทางหลอดอาหาร เพื่อให้เห็นภาพด้านหลังของหัวใจ ที่เรียกว่า tran-esophagal echocardiography ซึ่งจะทำให้เห็นหัวใจห้องซ้ายบน ลิ้นหัวใจ และผนังกั้นห้องหัวใจได้ชัดเจน

การทำอัลตราซาวด์หัวใจ  (คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง) มีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ ใช้ตรวจหาความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจ ตรวจสอบปริมาณเลือดที่ถูกสูบฉีดในการบีบตัวของหัวใจแต่ละครั้ง รวมถึงความหนา และพยาธิสภาพของถุงหุ้มหัวใจ (pericardium) ตรวจการสะสมตัวของของเหลวระหว่างถุงหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัย และติดตามผลการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจ

ชนิดของการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง)

การตรวจโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์นั้นมีอยู่ 4 แบบหลักๆ ได้แก่ 

  1. แบบธรรมดาลำแสงเดี่ยว เรียกว่าแบบ M-mode 
  2. แบบสองมิติ (two-dimensional) เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากให้ภาพสองมิติ ได้เห็นภาพทั้งแนวกว้าง แนวลึก เห็นการเปิดปิดของลิ้นหัวใจ มีประโยชน์ในการมองดูการเคลื่อนไหว 
  3. แบบ Doppler ซึ่งตรวจจับการเคลื่อนตัวของเลือดได้ด้วย
  4. แบบ Color Doppler แสดงสีสันได้ ตรวจทิศทางและความเร็วในการไหลของเลือด ตรวจดูการเปิดปิดของลิ้นหัวใจว่าเป็นปกติดีหรือไม่ ตรวจดูความผิดปกติบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดกับหัวใจ รวมถึงตรวจดูโครงสร้างของหลอดเลือด และลักษณะของห้องหัวใจได้ด้วย

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors