นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 30-50 ปี ความน่าสนใจของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร จึงหายามารับประทานเอง จนกระทั่งอาการรุนแรงจึงมารับการรักษา เพราะฉะนั้นการรู้ทันโรคนิ่วในถุงน้ำดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
ถุงน้ำดีมีหน้าที่อะไร?
ถุงน้ำดี (Gall Bladder) คือ อวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง เป็นถุงขนาดเล็กอยู่ใต้บริเวณตับ มีลักษณะเป็นกระเปาะ ทำหน้าที่เป็นที่พักหรือที่กักเก็บน้ำดีที่ถูกผลิตจากตับก่อนจะส่งต่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก เพื่อทำหน้าที่ย่อยไขมัน
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในน้ำดี ประกอบด้วยสารหลายชนิด เมื่อสารต่างๆ เหล่านี้เกิดภาวะไม่สมดุล ทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วสะสมอยู่ในถุงน้ำดี เรียกว่า “นิ่วในถุงน้ำดี” ส่วนประกอบส่วนใหญ่จะเป็นคอเรสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งแตกต่างจากนิ่วในไต จึงไม่สามารถรักษาโดยการสลายนิ่วได้
อาการแบบไหน บ่งบอกได้ว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่มักไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน หากไม่ได้เกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลันหรือมีการติดเชื้อในช่องท้อง มักตรวจพบในผู้ที่ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด แต่เราสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี มักจะมีอาการ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
- แสบร้อนกลางอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ บริเวณชายโครงด้านขวา
- ในบางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น ร่วมกับมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะสีเข้มร่วมด้วย
การตรวจนิ่วในถุงน้ำดี
จะทำการตรวจโดยการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) ซึ่งเป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต และช่องท้องทั่วไป ตลอดจนเส้นเลือดต่างๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วในไตหรือนิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เจ็บ ผลการตรวจเชื่อถือได้ถึง 90% ทำให้แพทย์มีข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น
วิธีการรักษา
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาด้ายการใช้เครื่องสลายนิ่วได้ เพราะสาเหตุ การเกิดนิ่วเป็นคนละแบบกับการเกิดนิ่วในระบบไต และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเลือกในการรักษานิ่วในถุงน้ำดีมีดังนี้
- ผู้ป่วยที่อายุยังน้อย สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี และไม่มีการอักเสบของนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะยังไม่ทำการรักษาหรือผ่าตัด แต่จะให้สังเกตอาการ และติดตามอาการทุกๆ 6 เดือน เพราะผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีจำนวนมาก จะไม่มีอาการ และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเลยตลอดชีวิต
- ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีออกในขณะที่ถุงน้ำดียังไม่เกิดการอักเสบ เพราะหากปล่อยให้มีการอักเสบจะทำให้การผ่าตัดเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย
ใครควรเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
เนื่องจากการรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการใช้ยาละลายนิ่วมักไม่ค่อยได้ผล และต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน เมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีซ้ำได้อีก แพทย์จึงไม่นิยมรักษาด้วยวิธีนี้ โดยจะแนะนำว่าในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว ควรผ่าตัดในทุกราย โดยการผ่าตัดมี 2 ประเภท คือ
- ผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) วิธีนี้จะมีแผลขนาดเล็กอยู่ 3-4 ตำแหน่งขนาดของแผล 0.5-1.0 ซม. เท่านั้น การผ่าตัดแบบนี้เป็นที่นิยมกว้างขวาง ถือเป็นมาตรฐานของการรักษา เนื่องจากแผลขนาดเล็กทำให้แผลสวย เจ็บแผลหลังผ่าตัดไม่มาก อยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน และฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาภายใน 7-10 วันก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ โดยทั่วไปการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้องสามารถทำได้สำเร็จสูงสุดร้อยละ 95 ยกเว้นในรายที่ผู้ป่วยมีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) ความสำเร็จจะอยู่ประมาณ 60-70
- ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) แผลจะอยู่ที่ชายโครงขวาขนาดแผลยาว 7-10 ซม. ระยะเวลาในการพักฟื้นอยู่ที่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ การผ่าตัดแบบนี้มีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยบางราย จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบมากหรือถุงน้ำดีแตกทะลุช่องท้อง
ดูแลตัวเอง ป้องกันการเกิดโรคของถุงน้ำดี
- ลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีสูง เนื่องจากปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีจะส่งผลให้เกิดก้อนนิ่ว การลดน้ำหนักจะเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ และไม่ควรหักโหมลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อสารเคมีในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดก้อนนิ่วได้เช่นกัน
- รักษาน้ำหนักตัว ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเลือกกินอาหารให้สมดุล ควบคุมปริมาณพลังงานของอาหารที่รับประทานให้พอเหมาะ
- เลือกกินอาหารที่ดี ควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ จำกัดหรือลดการกินอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน และมีกากใยต่ำจะทำให้เสี่ยงเกิดโรคในถุงน้ำดีได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในถุงน้ำดีได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยต้านโรคได้
หากคุณเริ่มมีอาการท้องอืด จุกเสียดบ่อย ๆ หลังมื้ออาหาร โดยเฉพาะหลังทานอาหารมัน ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ส่วนใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็พยายามดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม ใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคของถุงน้ำดีได้
สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ แผนกศัลยกรรมทั่วไป อาคาร A ชั้น 1 โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา โทร 038-317333 ต่อ 2136, 2138