ลิ้นหัวใจรั่วโดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ เพราะอาการจะปรากฏเมื่อหัวใจไม่สามารถทนรับกับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป ซึ่งอาการจะเกิดอย่างฉับพลันทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ลิ้นหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ทำหน้าที่คล้ายประตูกั้น ไม่ให้เลือดที่อยู่ในแต่ละห้องหัวใจไหลย้อนกลับขณะที่หัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจึงทำหน้าที่คล้ายประตูปิด-เปิดระหว่างห้องหัวใจโดยทำงานตลอดเวลาตั้งแต่เกิด ซึ่งหัวใจของคนเราจะมีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ
- ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาบนกับล่าง
- พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปยังปอด
- ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนกับล่าง
- เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย
ลักษณะของลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจ ประกอบไปด้วยเนื้อเยื้อเป็นแผ่นบางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล จะมีลักษณะคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนลิ้นเอออร์ติค จะเป็นแผ่นรูปเสี้ยววงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก…
สาเหตุการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด อาจมีอาการตอนวัยเด็ก หรือมีตอนเป็น ผู้ใหญ่ก็ได้ เด็กจะเหนื่อยง่าย ตัวไม่โต ตัวเขียว อาจพบร่วมกับผนังหัวใจรั่วด้วย
- ลิ้นหัวใจเสื่อมตามวัย เป็นความเสื่อมของร่ายกาย มักเป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติดตีบที่เกิดจากการมีหินปูนมาเกาะที่ลิ้นหัวใจ
- โรคหัวใจรูห์มาติก เกิดจากการติดเชื้อในวัยเด็ก มีอาการคออักเสบ แล้วเกิดการอักเสบ ของหัวใจ แต่จะเริ่มมีอาการตอนอายุมากขึ้น
- ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยาเสพติด) การเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ เป็นต้น
การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว
อย่างที่กล่าวว่า ลิ้นหัวใจของคนเราก็เปรียบเสมือนประตู ปิด-เปิด หากไม่สามารถปิดหรือเปิดได้ตามปกติแล้ว แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยดูก่อนว่า ลิ้นหัวใจเสียขนาดไหน และจะต้องติดตามดูอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมว่าควรจะผ่าตัดซ่อมแซมหรือจะผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
การปฎิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มาก ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ถ้ารั่วมากมักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็จะถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรงดอาหารเค็ม อาหารไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ งดสูบบุหรี่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือทำการผ่าตัดใดๆ ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อแพทย์จะได้ให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อนทำการรักษาโรคต่างๆ