มะเร็งรังไข่ กับการตรวจคัดกรอง รักษาและผ่าตัด

จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งสตรีที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวช

และสำหรับข้อมูลในประเทศไทย คือในสตรีไทยนั้นพบว่า มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่เกือบ 3,000 ราย และมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มากกว่าครึ่งที่ต้องเสียชีวิตในแต่ละปี ทั้งนี้ในทางการแพทย์ หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะที่ 1 จะมีอัตราการรักษาให้หายจากโรคสูงถึงร้อยละ 90

อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งรังไข่

แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่ แต่จากสมมุติฐานของการเกิดโรค คาดว่าน่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลที่รังไข่บ่อยๆ ซึ่งประกอบกับการที่รังไข่ได้รับการกระตุ้น หรือได้รับสารก่อมะเร็งไปพร้อมๆ กัน

อาการแฝงที่ซ่อนเร้นของมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่ชัดเจน ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาตรวจพบโรคขณะที่มะเร็งรังไข่เข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว โดยอาการข้างเคียงที่จะพบได้บ่อยๆ คือ มีอาการท้องอืด เสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น แต่อาการเหล่านี้ก็ใกล้เคียงกับโรคกระเพาะ ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไปตรวจด้วยว่าสงสัยในการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้กว่าจะได้เข้ารับการรักษาที่ตรงโรค ก็เมื่อเป็นระยะลุกลามหรือมีอาการมากแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย คือการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เนื่องจากหากตรวจพบมีก้อนรังไข่โตในระยะแรกเริ่ม การรักษาจะทำได้ง่ายกว่า และโอกาสหายขาดก็สูงกว่าเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ที่สำคัญ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ คุณหมอจะทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูก ส่วนใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้นๆโดยการทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือ อัลตราซาวด์ (ultrasound) ที่รู้จักกันดี บางกรณีที่ต้องการตรวจประเมินอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้อง อาจมีการส่งตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI นอกจากนั้นจะต้องมีการเจาะเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและตรวจติดตาม

ระยะของมะเร็งรังไข่

โดยทั่วไปมะเร็งรังไข่จะมีด้วยกันอยู่ 4 ระยะ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยระยะที่ 4 จะเป็นระยะสุดท้าย 

  • ระยะที่ 1 คือตัวมะเร็งอยู่เฉพาะแต่ในรังไข่
  • ระยะที่ 2 คือตัวมะเร็งมีการกระจายในอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่ 3 คือตัวมะเร็งมีการแพร่กระจายในช่องท้อง
  • ระยะที่ 4 คือตัวมะเร็งมีการกระจายไปที่เนื้อตับ หรืออวัยวะอื่นๆ นอกช่องท้อง

ซึ่งจากสถิติส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ มักเป็นในระยะที่ 3 อันสะท้อนถึงภัยเงียบที่ควรได้รับการป้องกัน ดีกว่าการมาตรวจพบและรักษาในระยะลุกลาม

การรักษามะเร็งรังไข่

หลายครั้งที่การรักษามะเร็งรังไข่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะตื่นตระหนกและรับไม่ได้กับ “โรคมะเร็ง” ที่เกิดขึ้น การให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็งเพื่อต่อสู้กับเซลล์ร้ายให้ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

สำหรับการรักษามะเร็งรังไข่ ภายหลังจากการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อกำหนดระยะของโรคแล้ว สูตินรีแพทย์จะต้องผ่าตัดเพื่อรักษาและพิสูจน์เพิ่มเติม ดังนี้

  • ทำการตัดมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  • เก็บน้ำในช่องท้อง
  • ตัดไขมันบริเวณลำไส้
  • เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และด้านข้างเส้นเลือดแดงใหญ่ในท้อง

เพื่อดูว่ามีมะเร็งกระจายไปที่ใดบ้างที่อาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า

หลังผ่าตัดรักษา และตรวจหาการลุกลามของมะเร็งรังไข่

หลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ปวยจะอยู่โรงพยาบาล 4-5 วัน จากนั้นคุณหมอจะนัดคนไข้มาฟังผลชิ้นเนื้อ ซึ่งถ้าเป็นระยะที่ 1 ไม่มีการแตกของก้อน ส่วนใหญ่การรักษาจะจบแค่การผ่าตัด แต่ถ้าเป็นมากกว่านั้นก็จะต้องมีการให้ยาเคมีบำบัดต่อทันที เพราะถึงแม้ว่าคุณหมอจะผ่าตัดเอาก้อนออกได้หมด แต่เซลล์มะเร็งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่ายังมีการกระจายอยู่ในร่างกายได้ ดังนั้น การให้ยาเคมีบำบัดจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งในส่วนนี้ 

“ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า 75-80% ผู้ป่วยจะสามารถตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดได้จนหายป่วยได้”

การให้เคมีบำบัดรักษามะเร็งรังไข่

ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์ได้ตั้งแต่ภาวะซีด การติดเชื้อ เพราะเม็ดเลือดขาวต่ำ การมีเกล็ดเลือดต่ำ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่ไขกระดูกถูกกดการทำงานอันเป็นผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดแทบจะทุกตัว แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาตัวยาที่สามารถลดอาการข้างเคียงได้มากขึ้น สำหรับอาการผมร่วงที่เกิดจากการใช้ยาเคมีบำบัดภายหลังสิ้นสุดการรักษาและไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดแล้ว เส้นผมก็จะงอกออกมาใหม่ ทั้งยังมีความสวยงามเหมือนเดิม

การติดตามผลมะเร็งรังไข่หลังให้ยาเคมีบำบัด

หลังการให้ยาเคมีบำบัดไปแล้วราว 6 รอบ จะต้องมีการตรวจติดตามเป็นระยะๆ ไปเรื่อยๆ โดยการตรวจจะประกอบไปด้วยการตรวจภายใน การตรวจเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็งเป็นระยะ ในบางครั้งอาจมีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในบางราย โดยภายใน 2 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษาก็จะนัดตรวจทุก 3 เดือน พอเข้าปีที่ 3-5 จะนัดติดตามทุก 4-6 เดือน พอหลังจากครบ 5 ปีแล้ว จะถือว่าโอกาสที่โรคมะเร็งจะกลับมานั้นน้อยมากๆ แพทย์ก็จะนัดห่างจากเดิมสักหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าโรคจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเลย ดังนั้นคนไข้ก็ยังต้องมาตรวจติดตามตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ศูนย์สูตินรีเวช ของโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา มีความพร้อมทั้งทางด้านทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เรามีสูติแพทย์ผู้หญิงที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในความเป็นผู้หญิง มีความเชี่ยวชาญพร้อมให้การบริการตรวจรักษา และให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสุภาพสตรี ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเปิดบริการตั้งแต่เวลา 7.30 น. เป็นต้นไปในทุกๆ วัน


ปรึกษาแพทย์


    Related Doctors