หยุดความเสี่ยงจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน, หลอดเลือดหัวใจ เพราะหัวใจเป็นส่วนสำคัญและมีเพียงหนึ่งเดียว อย่านิ่งนอนใจเพียงเพราะไม่มีอาการ ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าปีละ 70,000 ราย หรือทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 8 คน การตรวจ CT Calcium Score เป็นวิธีการตรวจสอบปริมาณหินปูนในหลอดเลือดเพื่อช่วยหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ ทำให้รู้ทันภัยเงียบของโรคหัวใจที่อาจซ่อนอยู่และสามารถช่วยวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดรวมถึงการเฝ้าระวังเมื่อพบความผิดปกติ
หินปูนในหลอดเลือดเกิดจากอะไร ทำไมถึงเสี่ยงหัวใจวายได้?
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดหินปูนในหลอดเลือด คือการที่มี “หินปูน” หรือ “แคลเซียม” ซึ่งเกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติของแคลเซียมในร่างกายจนสะสมกลายเป็นก้อนแข็ง หรือเมื่อร่างกายเรามีการอักเสบในจุดใดจุดหนึ่ง ร่างกายก็จะสร้างแคลเซียมเพื่อปกป้องบริเวณบาดแผล ทำให้เกิดการสะสมจนกลายเป็นคราบติดแน่นและมีความหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณหลอดเลือดแดง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงหรือไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ที่สูบบุหรี่จัด
ใครบ้างที่ควรตรวจหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น มีภาวะความดันโลหิตสูง, คอเลสเตอรอลสูง, มีโรคเบาหวาน, โรคไต รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินมากๆ
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
การตรวจหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ มีวิธีตรวจอย่างไร
การตรวจหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจเพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถตรวจได้ด้วยการหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง โดยใช้เครื่อง X-rays คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือเครื่อง CT Scan เพื่อหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือด ซึ่งจะบอกแนวโน้มว่าเราเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
Calcium Score = 0 คือไม่มีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจ
Calcium Score 1-100 คือมีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจเล็กน้อย มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต่ำ
Calcium Score 101-400 คือมีคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงหัวใจปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
Calcium Score 401 ขึ้นไป อาจมีภาวะหลอดเลือดตีบแฝงอยู่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก และอาจเกิดขึ้นภายใน 2-5 ปี แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม
การเตรียมตัวเพื่อตรวจหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)
- ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนตรวจ
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- หลีกเลี่ยงยาที่จะกระตุ้นหัวใจหรือชีพจรให้เต้นเร็วขึ้น
และการตรวจก็ใช้เวลาไม่นาน เพียงนอนยกแขนเหนือศีรษะ กลั้นหายใจเป็นช่วงๆ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย
ข้อดีการตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ CT Calcium Score
- ไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ ไม่ต้องฉีดยา หรือใช้สารทึบแสง
- ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
- ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษก่อนเข้ารับการตรวจ
เพราะภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดหัวใจอาจไม่แสดงอาการให้คุณรู้ การตรวจป้องกันจะช่วยให้แพทย์ประเมินสถานการณ์และวางแผนการรักษาหากพบความผิดปกติ
วิธีป้องกันหินปูนในหลอดเลือด
การควบคุมการเกิดหินปูนในร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่อาจสามารถควบคุมได้โดยตรง เนื่องจากเป็นกลไกภายในร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นตามธรรมชาติ แต่เราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันเรื่องภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้ เริ่มต้นจากการดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลไม่ให้ตัวเองเกิดความเครียด รวมถึงไม่รวมที่จะตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี
เพราะเราไม่อาจรู้ปริมาณการสะสมของแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด? การตรวจ CT Calcium Score หรือการตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจจึงสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงจากหัวใจวายเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงลดความรุนแรง เพราะการเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบในบางครั้งก็ไม่เคยแสดงอาการให้คุณรู้ตัวมาก่อน