หัวใจโต รักษาที่สาเหตุ ควบคุมที่อาการ

หัวใจโตแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวจากการที่หัวใจทำงานหนักหรือบีบตัวมากในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือลิ้นหัวใจตีบ กับเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี ทำให้มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมาก

หัวใจโต (Enlarged heart หรือ Cardiomegaly)

1. หัวใจโตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ

หัวใจโตแบบนี้ ให้ลองนึกภาพคนเล่นกล้ามหรือนักเพาะกายที่มีกล้ามเนื้อใหญ่กว่าคนทั่วไป โดยเป็นการใหญ่ขึ้นเพราะกล้ามเนื้อทำงานหนัก ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูงหรือลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักจนหนาตัวขึ้นได้

2. หัวใจโตเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี

กรณีนี้ทำให้มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมาก คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ หัวใจจึงมีขนาดโตขึ้น

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต เช่น ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือโรคหัวใจโตจากแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน

หัวใจโตมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่หัวใจโตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการ หากหัวใจยังทำงานปกติ แต่หากหัวใจทำงานผิดปกติเมื่อไหร่จะเกิดอาการต่างๆ ได้แก่

  • หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • หายใจเร็ว
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
  • ใจสั่น
  • บวมบริเวณเท้าตอนสายๆ
  • ไอ โดยเฉพาะเวลานอน
  • นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่หน้าอก

สาเหตุที่ทำให้หัวใจโต

  • ความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงที่เป็นอย่างต่อเนื่องทำให้หัวใจต้องทำงานหนักจึงทำให้หัวใจโต
  • โรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
  • โรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง ที่เรียกว่า Cardiomyopathy เช่น ผู้ที่ี่ดื่มสุราเป็นเวลานานกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลาย ทำให้หัวใจโต
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ผนังหัวใจรั่ว
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันในปอดสูง
  • ผู้ที่มีโลหิตจาง หรือซีดเป็นเวลานาน
  • โรคของต่อมไทรอยด์
  • ได้รับธาตุเหล็กมากไป จะมีการสะสมธาตุเหล็ก จนเกิดโรค Hemochromatosis
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน ทำให้มีการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Amyloidosis

จะป้องกันหัวใจโตได้อย่างไร?

การป้องกันหัวใจโตจะต้องป้องกันที่สาเหตุ คือดูแลไม่ให้เกิดโรคที่ทำให้หัวใจโต โดยมีแนวทางการป้องกันดังนี้

  1. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อ้วน ไม่ออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสในการเกิดความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแล้วจะต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
  2. สำหรับผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมจะหลีกเลี่ยงยาก ดังนั้น หากมีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์
  3. รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

การตรวจเพื่อหาสาเหตุของหัวใจโต

  • การตรวจรังสีปอดและหัวใจจะบอกได้ว่าหัวใจโตหรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของหัวใจโต
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะวัดได้ว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จะบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่ การบีบตัวของหัวใจเป็นอย่างไร ทั้งยังสามารถดูลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจ Computer Scan จะให้รายละเอียดภาพของหัวใจค่อนข้างมาก
  • การเจาะเลือดตรวจ
  • ในรายที่จำเป็นอาจจะต้องฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ อาจจะจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อหัวใจส่งตรวจเพิ่มเติม

การรักษาหัวใจโต

การรักษาหัวใจโตจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาต้นเหตุ แต่หากผู้ป่วยเกิดอาการก็จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อรักษาอาการเช่นกัน ยาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ยาที่สามารถเลือกใช้ได้แก่ furosemide, spironolactone, hydrochlorothaizide ใช้ในกรณีที่มีอาการบวม และมีอาการของหัวใจวาย
  • Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors ใช้ลดความดันโลหิตและรักษาอาการหัวใจวาย
  • Angiotensin receptor blockers (ARBs) ใช้ลดความดันและรักษาอาการหัวใจวาย
  • Beta blockers ใช้ลดความดันและอาการหัวใจวาย
  • Digoxin ใช้รักษากรณีที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติที่การรักษาต้นเหตุ แต่หากผู้ป่วยเกิดอาการก็จำเป็นต้องได้ยาเพื่อรักษาอาการ

การรักษาอื่นๆ ที่อาจมีความจำเป็นกับอาการหัวใจโต

  • สำหรับผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ
  • การผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมอาการหัวใจโต

  • หยุดสูบบุหรี่
  • ลดน้ำหนัก
  • รับประทานอาหารจืด แทนอาหารรสจัด
  • ควบคุมน้ำตาลในเลือด ควบคุมเบาหวาน
  • ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม
  • ออกกำลังกายให้เพียงพอ
  • นอนหลับพักอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors