โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Coronary Artery Disease, CAD) หรือภาวะหัวใจขาดเลือด หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดง (Coronary Artery) ที่เลี้ยงหัวใจเกิดภาวะตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และอาจมีภาวะหัวใจวายหรือเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สาเหตุการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ

หัวใจขาดเลือด เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงใหญ่โคโรนารี (Coronary Artery) เนื่องจากมีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามวัย มีไขมันและหินปูนมาเกาะที่ผนังชั้นในของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและหนาขึ้น ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบแคบหรือตัน เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย

อาการของหัวใจขาดเลือด

อาการสำคัญของหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บหน้าอก (Angina Pectoris) ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ เจ็บหน้าอกแบบคงที่ กับเจ็บหน้าอกเฉียบพลันหรือไม่คงที่

เจ็บหน้าอกแบบคงที่ (Stable Angina)

เป็นอาการเจ็บหน้าอกเมื่อมีการออกแรงมากๆ เช่น เดินขึ้นสะพานลอย ขณะวิ่ง หรือเจ็บหน้าอกเมื่อมีอาการโกรธ เครียด แต่อาการจะทุเลาลงถ้าหยุดพักจากการออกแรงในกิจกรรมนั้นๆ หรือคลายจากอารมณ์ตึงเครียด ส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 3-5 นาที หรือนานที่สุดไม่เกิน 20 นาที

ลักษณะการเจ็บหน้าอก จะเจ็บแน่นๆ เหมือนมีของหนักมาทับกลางหน้าอก และอาจเจ็บร้าวไปที่ขากรรไกรหรือแขนซ้าย อาจมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น ใจสั่น เหนื่อยหอบ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ สาเหตุของการเจ็บ เนื่องจากขณะออกแรงหรือมีอารมณ์โกรธ เครียด หัวใจต้องการเลือดและออกซิเจนเพิ่มขึ้น ในขณะที่หลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ขาดออกซิเจน และเมื่อพักหรือผ่อนคลายจากอารมณ์โกรธแล้วอาการเจ็บหน้าอกก็จะหายไป เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจยังไม่ตาย

เจ็บหน้าอกเฉียบพลันหรือแบบไม่คงที่ (Unstable Angina)

เป็นอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่สัมพันธ์กับการออกแรง เจ็บได้ในขณะพัก เจ็บนานเกิน 20 นาที ซึ่งมักมีภาวะช็อกและหัวใจวาย มีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน (Myocardial Infarction) สาเหตุมาจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ ใจสั่น วิงเวียน ศีรษะ หน้ามืด จากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการของภาวะหัวใจวาย ได้แก่ เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หรือมีภาวะช็อก เหงื่อออก ตัวเย็น หมดสติ หรือเสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด

  • มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เป็นการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามวัย เริ่มพบมากในผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี
  • บุคคลที่มีอาชีพนั่งทำงานที่โต๊ะ มีการขยับร่างกายน้อย
  • ขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีไขมันเกาะในผนังหลอดเลือดสูง หลอดเลือดเสื่อมสภาพ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่จัด
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างไรบ้าง?

  • สอบถามอาการเบื้องต้น เกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอก บริเวณที่เจ็บ ระยะเวลาที่เจ็บ และอาการเจ็บร้าว สอบถามโรคประจำตัว วัดชีพจร วัดความดันโลหิต การฟังเสียงหัวใจ
  • การตรวจเลือดช่วยวินิจฉัยระดับความรุนแรงของภาวะหัวใจขาดเลือด และเพื่อหาปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, ECG) สามารถบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย กรณีที่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหมายถึงมีโรคหัวใจรุนแรง แต่หากพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่มีความผิดปกติของหัวใจ อาจต้องอาศัยการตรวจวิธีอื่นๆ ประกอบ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจขณะออกกำลังกายโดยการเดินหรือวิ่งบนสายพาน ซึ่งเป็นช่วงที่หัวใจต้องการเลือดหรือออกซิเจนมากขึ้น หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ จะเกิดอาการแน่นอก หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลง เพราะเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) โดยการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ ข้อพับแขน หรือข้อมือ ใส่สายสวนไปจนถึงรูเปิดของหลอดเลือดโคโรนารี ฉีดสารทึบรังสี และเอกซเรย์ดูหลอดเลือดว่าตีบแคบมากน้อยเพียงได้
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนของหัวใจ (Echocardiography) สามารถดูโครงสร้างของหัวใจ และการทำงานของหัวใจได้

การเลือกวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

แพทย์จะพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของโรค พยาธิสภาพของหัวใจ อายุ และโรคร่วมอื่นๆ ประกอบ ซึ่งวิธีการรักษานั้นมีหลายวิธี ได้แก่

  • รักษาด้วยการให้ยา
  • การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty, PTCA)
  • การผ่าตัดบายพาสของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting, CABG)

1. การรักษาหัวใจขาดเลือดด้วยยา

เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน ยาขยายหลอดเลือด เช่น ไนโตรกลีเซอรีน บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก หากมีภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ อาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ มีอาการบวม จะให้ยาขับปัสสาวะ ให้ออกซิเจน เป็นต้น และการใช้ยาเพื่อรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

2. การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดขณะรักษาด้วยยา

  • ควรพกยาอมใต้ลิ้น (ตามที่แพทย์สั่ง) ติดตัว สำหรับใช้เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก
  • หากเจ็บหน้าอก อมยาแล้วไม่ทุเลาลง เจ็บนานเกิน 5 นาที เจ็บในขณะพัก เจ็บมากกว่าเดิมจนเหงื่อออก หายใจหอบ ควรให้ญาติรีบพาไปพบแพทย์
  • การรับประทานยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ควรรับประทานสม่ำเสมอตามที่แพทย์กำหนด ไม่ควรปรับขนาดยาเอง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารควรงดอาหารไขมันสูง งดเค็ม งดอาหารหวานจัด ควรควบคุมน้ำหนัก ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหม คลายเครียด งดบุหรี่ ชา กาแฟ แอลกอฮอล์
  • พบแพทย์ตามนัด

3. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Percutaneous Transluminal Coronary Angioplasty, PTCA)

เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตัน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกมากขึ้น ด้วยการใช้อุปกรณ์พิเศษ คือ บอลลูนขนาดเล็ก หรือ ใช้ขดลวดค้ำยัน (Stent) ร่วมด้วยโดยไม่ต้องผ่าตัด

ปัจจัยในการพิจารณาขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือด ตำแหน่งของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดเล็กมากและขดเคี้ยวมากจะทำให้การรักษาไม่ได้ผล มีโอกาสตีบตันซ้ำง่าย ข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยวิธีนี้ (PTCA) คือมีการตีบตันที่รุนแรง และมีอาการเจ็บหน้าอกที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล

ขั้นตอนของ PTCA หรืการทำบอลลลูนหลอดเลือดหัวใจ

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะใส่สายสวน เช่น บริเวณขาหนีบ  ข้อพับ หรือข้อมือ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วสอดสานสวนขนาดเล็กผ่านผิวหนังไปยังหลอดเลือด ปลายสายสวนจะมีบอลลูนที่ยังแฟบอยู่ และเมื่อสายสวนไปถึงตำแหน่งของหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหรืออุดตัน แพทย์จะทำการปล่อยให้บอลลูนพองออก เพื่อดันไขมันหรือหินปูนที่อุดตันเบียดชิดผนังหลอดเลือดส่งผลให้ทางเดินของเลือดขยายกว้างขึ้น เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น และมักจะใส่ขดลวดค้ำยัน (Stent) คาไว้ที่หลอดเลือดบริเวณนั้น เพื่อป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือด ใช้เวลาการทำประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในระหว่างทำแพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบและความรุนแรงของการตีบตัน โดยการฉีดสารทึบรังสีและการเอกซเรย์

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้บริการตรวจรักษาอย่างครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยมาตรฐานการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเวลาเฉลี่ย 35 นาที ซึ่งทำให้ครอบคลุมมาตรฐานการช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด ที่มีโอกาสรอดชีวิตเมื่อได้รับการรักษาทันเวลา คือก่อน 90 นาทีโดยเฉลี่ย ทั้งนี้แพทย์จะทำการดูแลรักษาผู้ป่วยจนเข้าสู่ภาวะปกติ

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจมีภาวะตีบหรือตัน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนหัวใจวาย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับกลางอก

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors