‘กล้ามเนื้อสะโพก’ เป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ช่วยในการพยุงตัว ทำให้เราสามารถเดิน นั่ง หรือยืนได้อย่างมั่นคง คอยควบคุมความสมดุลและการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงเป็นจุดที่กระจายแรงไปยังกล้ามเนื้ออื่น ๆ ซึ่งหากกล้ามเนื้อส่วนนี้มีปัญหา ก็อาจส่งผลกระทบไปถึงในส่วนของหลัง เข่า ทำให้มีอาการปวดหรือบาดเจ็บตามไปด้วย ซึ่งเราสามารถป้องกันการเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการทำ Orthoscanogram
Orthoscanogram คืออะไร?
Orthoscanogram คือ เทคนิคการถ่ายภาพ X-ray ที่ทำให้เห็นภาพแบบ 2 มิติตั้งแต่ช่วงบริเวณกระดูกสะโพก ไล่ลงมาที่หัวเข่าจนถึงช่วงเท้า โดยการ X-ray ท่านี้จะทำในท่ายืนเพื่อให้เห็นรายละเอียดของโครงสร้าง ช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องโครงสร้างกระดูก สะโพก ขาโก่ง ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งบางครั้งหากมองด้วยตาเปล่าอาจไม่เห็นปัญหาเหล่านี้ และเมื่อทำร่วมกับ Whole Spine X-ray จะสามารถช่วยในการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาออฟฟิศซินโดรมที่พบได้มากในปัจจุบัน
เช็กโครงสร้างร่างกายด้วย Orthoscanogram และโปรแกรมนี้สามารถตรวจอะไรได้บ้าง?
- ผู้ที่ต้องการตรวจความเสื่อมของโครงสร้างร่างกาย บริเวณสะโพก เข่า ขา ข้อเท้า รวมถึงผู้ที่ใช้งานส่วนเหล่านี้มากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่ทำต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน
- ตรวจภาวะกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่สามารถพบได้ตั้งแต่ในวัยเด็กและสามารถเป็นได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุและบางครั้งอาจสังเกตเห็นได้ไม่ชัด การตรวจ Orthoscanogram จะช่วยให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างทางกระดูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีปัญหาบริเวณส่วนใด ซึ่งทำให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างถูกวิธีและเหมาะสมตามระดับอาการที่ตรวจพบ
- ตรวจปัญหาขาโก่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระดูกและสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเข่าจะมีลักษณะที่โค้งออกและขางอชี้ออกด้านนอก การทำ Orthoscanogram จะช่วยให้เห็นถึงองศาของเข่า ว่ามีความโค้งออกมากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยในการแก้ไขและปรับองศาให้ถูกต้องตามธรรมชาติ
- ตรวจปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยบางครั้งอาจมีความแตกต่างของขาอยู่มากกว่า 2 เซนติเมตรขึ้นไป ระหว่างข้างซ้ายและข้างขา ความผิดปกตินี้บางครั้งอาจหายได้เองตามธรรมชาติ หรือสามารถใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อช่วยให้กระดูกงอกเพิ่มขึ้นมา ซึ่งการทำ Orthoscanogram ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันได้อย่างถูกต้อง
- ใช้เพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด แพทย์จะใช้ Orthoscanogram เพื่อประเมินก่อนการผ่าตัดเข่า สะโพก กระดูกสันหลัง รวมถึงการเปลี่ยนข้อ ใส่เหล็ก เพื่อดูโครงสร้างโดยรวมหรือปรับมุมก่อนผ่าตัด เช่น ปัญหาขาโก่ง การผ่าตัดบริเวณต่างๆ
คนเป็นออฟฟิศซินโดรมสามารถตรวจ Orthoscanogram ได้หรือไม่
สำหรับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม หรือมีอาการปวดหลังมาเป็นระยะเวลานาน หากเข้ารับการทำกายภาพในเบื้องต้นแต่ยังรู้สึกว่าไม่ดีขึ้น สามารถเข้ารับการตรวจ Orthoscanogram เพื่อหาความผิดปกติเพิ่มเติมในส่วนโครงสร้างกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่มักพบปัญหาในคนเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
การทำ Orthoscanogram แตกต่างกับ CT Scan / MRI อย่างไร
การทำ Orthoscanogram เป็นการ X-ray ในท่ายืน เพื่อให้เห็นโครงสร้างกระดูกในขณะที่มีการลงน้ำหนัก ช่วยทำให้เห็นถึงปัญหาขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงวางแผนวิธีการรักษาได้อย่างถูกต้อง แต่ในการทำ CT Scan หรือ MRI เป็นการทำในลักษณะท่านอน จึงอาจทำให้เห็นปัญหาบริเวณหลัง สะโพก หรือข้อต่อต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากขณะที่นอนบริเวณส่วนหลังจะมีการยืดออก ทำให้ไม่เห็นปัญหาเมื่อเกิดการลงน้ำหนัก การตรวจด้วยวิธี Orthoscanogram ในท่ายืนจึงเป็นการตรวจที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยรักษาให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
ข้อดีและความแม่นยำในการตรวจ Orthoscanogram
ข้อดีของการตรวจ Orthoscanogram คือสามารถทำให้เรารู้ถึงสมรรถภาพในส่วนกระดูกบริเวณสะโพก เข่า รวมถึงข้อต่อส่วนล่างตามจุดต่าง ๆ ว่ามีการสึกหรอไปแล้วมากน้อยเพียงใด หรือต้องระวังส่วนใดเป็นพิเศษ ส่วนในเรื่องของความแม่นยำ การตรวจ Orthoscanogram ถือว่าเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่ช่วงบริเวณกระดูกสะโพก เข่า และขา
ข้อจำกัดในการตรวจ Orthoscanogram และวิธีการเตรียมตัว
เนื่องจากการทำ Orthoscanogram จะเป็นการ X-ray ในท่ายืน ข้อจำกัดของผู้ที่ต้องการตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องเป็นผู้ที่สามารถยืนได้ตามปกติ หากเป็นผู้ที่ไม่สามารถยืนได้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธี X-ray ในรูปแบบอื่นๆ ที่จะสามารถช่วยในการรักษาได้อย่างตรงจุด ส่วนในเรื่องของการเตรียมตัว Orthoscanogram ไม่มีเรื่องใดที่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจได้ตามที่ต้องการ
หากมีอาการปวดเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน หรือรู้สึกมีความผิดปกติบริเวณสะโพก เข่า รวมถึงขาทั้งสองข้าง ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะส่วนดังกล่าวของร่างกายเป็นจุดที่รับน้ำหนักตัว ช่วยในการเคลื่อนไหว รวมถึงใช้เพื่อเดินในชีวิตประจำวัน การทำ Orthoscanogram จึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยหาสาเหตุของอาการเหล่านี้ รวมถึงสามารถตรวจเพื่อป้องกันโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหากับสุขภาพของเรา