‘ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง’ อีกหนึ่งวิธีตรวจที่ช่วยคัดกรองโรคมะเร็งด้วยการตรวจเลือด… ‘มะเร็ง’ โรคที่ใครหลายคนรู้สึกกังวล เพราะเป็นโรคที่ใกล้ตัวมากขึ้น พบในกลุ่มคนอายุน้อยขึ้น บางครั้งก็ไม่มีสัญญาณในระยะเริ่มแรก ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ ความเครียดจากการทำงาน การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือบางครั้งโรคมะเร็งก็อาจถูกส่งต่อจากพันธุกรรมภายในครอบครัว การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งตัวร้ายที่อาจแอบแฝงอยู่ในร่างกาย และมักลุกลามโดยที่เราไม่รู้ตัว และยังมีประโยชน์ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่หายแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจะใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติภายในร่างกาย และแนะนำให้ทำการตรวจควบคู่กับการตรวจคัดกรองในรูปแบบอื่นของมะเร็งชนิดนั้น ๆ เพื่อความละเอียดและแม่นยำ เพราะถ้าหากเราพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น
ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดใดได้บ้าง?
- Prostate Specific Antigen (PSA) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
PSA เป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ค่า PSA ในระดับปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 นาโนกรัม/มิลลิลิตร โดยสาร PSA มักถูกผลิตขึ้นออกมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจนี้แนะนำให้ตรวจควบคู่กับการคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) โดยให้ทำการเจาะเลือดตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากก่อนทำการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากหากมีการกดหรือคลำบริเวณต่อมลูกหมาก จะทำให้มีการปล่อย PSA ออกมาจากต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ผลของ PSA สูงขึ้นกว่าปกติได้ - Alpha Fetoprotien (AFP) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ
AFP ใช้สำหรับตรวจหามะเร็งตับในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง, ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี โดยค่าปกติในผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์คือ 0-20 นาโนกรัม/มิลลิลิตร โดยแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำทุก ๆ 3-6 เดือน และตรวจร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อทำการคัดกรองกลุ่มมะเร็งตับในเพศชาย โดยทั่วไปในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ค่า AFP ในเลือดจะไม่เกิน 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่หากตรวจพบค่า AFP ที่สูงมาก หรือเกินกว่า 500 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร แพทย์อาจมีการตรวจส่วนอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติมเพื่อหาความผิดปกติภายในร่างกาย - Cancer Antigen 19-9 (CA19-9) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อน
CA19-9 ช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งตับ, มะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ และ CA19-9 ยังเป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัย รวมถึงติดตามผลการรักษาในกลุ่มของโรคมะเร็งตับอ่อนหรือมะเร็งท่อน้ำดี โดยค่าปกติของ CA19-9 จะอยู่ที่ไม่เกิน 37 ยูนิต/มิลลิลิตร และผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำร่วมกับการทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อการตรวจวิเคราะห์มะเร็งตับอ่อนที่แม่นยำยิ่งขึ้น - Carcinoembryonic Antigen (CEA) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้
เป็นแอนติเจนที่ถูกสร้างตามปกติจากเซลล์ลำไส้และตับภายในร่างกาย CEA มักมีค่าที่สูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหาร, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ ฯลฯ โดยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบ CEA สูงมากกว่าปกติ ซึ่งค่าปกติของ CEA จะอยู่ระหว่าง 2.5-5 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งการตรวจ CEA ควรทำร่วมกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองเชิงป้องกันโดยละเอียด - Cancer Antigen 15-3 (CA 15-3) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม
สารโปรตีน ประเภทไกลโคโปรตีน สามารถพบค่าสูงได้ในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่ ฯลฯ CA 15-3 มักใช้ช่วยวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจาย หรือเมื่อกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ค่าปกติของ CA15-3 คือ 22 ยูนิต/มิลลิลิตร และในผู้ที่ต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะแรก แนะนำให้ทำการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์เต้านมควบคู่กับการหาตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเพื่อความละเอียดในการตรวจยิ่งขึ้น - Cancer Antigen 125 (CA 125) – ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่
CA 125 เป็นตัวช่วยบ่งชี้ในการคัดกรองมะเร็งรังไข่ และสามารถใช้ติดตามระยะโรคของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ โดยอาจพบค่า CA 125 สูงกว่าปกติในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีอาการอักเสบในช่องท้อง ฯลฯ โดยค่าปกติของจะอยู่ที่ระดับ 0-35 ยูนิต/มิลลิลิตร อีกทั้งยังสามารถใช้ตรวจเพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งรังไข่ได้อีกด้วย และหากต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่แนะนำให้ทำร่วมกับการอัลตราซาวด์เพื่อการตรวจป้องกันอย่างครอบคลุม
สรุป! 5 ประโยชน์ของการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง
- ช่วยคัดกรองโรคมะเร็งในผู้ที่มีความเสี่ยง
- ใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- ใช้ติดตามผลการรักษา และป้องกันการกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีกครั้ง
- สามารถนำค่าที่ตรวจไปใช้ในการพิจารณาเลือกวิธีรักษาโรคมะเร็ง
- หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หาย
เพราะการตรวจ ‘สารบ่งชี้มะเร็ง’ ร่วมกับ ‘การตรวจสุขภาพ’ อย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง แต่ยังช่วยให้เรามีโอกาสรักษาโรคที่พบในระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตในทุก ๆ วันได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวล เพราะมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการวางแผนดูแลตัวเองเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุก ๆ ปี