ชวนสังเกต ลูกแค่ติดเกมหรือป่วยทางจิตเวช

รู้หรือไม่? หลังประเทศไทยมีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว พบว่าตัวเลขของเด็กติดเกมที่เข้ารับคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า!

“โรคติดเกม” (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวชรุนแรง และต้องได้รับการบำบัดรักษา เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ทั้งยังสามารถทำให้เกิดโรคร่วมทางจิตเวชได้ เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โรคติดสารเสพติด โรคจิต และโรคลมชัก พบบ่อยในอายุระหว่าง 6 – 18 ปี มีความสัมพันธ์กับชนิดของเกมประเภทต่อสู้ออนไลน์แบบมีผู้ลงแข่งเป็นทีมเป็นหลัก

ข้อสังเกต ลูกของเรามีภาวะติดเกมหรือเปล่า?

  1. หมกมุ่นกับการเล่นเกม พูดหรือคุยเรื่องเกมตลอดเวลา ในหัวมีแต่เรื่องเกม
  2. ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมได้หรือเล่นเกินเวลาที่คุณพ่อคุณแม่อนุญาต ต่อรองขอเวลาเพิ่ม อิดออดไม่ยอมเลิก
  3. หมดความสนใจหรือเลิกทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยสนใจทำยามว่าง เช่น เลิกเล่นกีฬา เลิกซ้อมดนตรี เลิกเล่นนอกบ้าน
  4. อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีอาการกระวนกระวายใจ หงุดหงิดเมื่อไม่ได้เล่นเกม เก็บตัวแยกจากสังคม ตัดขาดจากโลกภายนอก มีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น พูดคำหยาบคาย ทุบตีคนอื่น อาละวาดทำลายของ
  5. ไม่ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนเอง เช่น ปัญหาการเรียน สอบตก ไม่ยอมไปโรงเรียน ซ้ำชั้น เรียนไม่จบ เป็นต้น

วิธีแก้ไขภาวะเด็กติดเกม

  1. สร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำกินข้าวก่อนถึงจะเล่นเกมได้ จำกัดเวลาเล่นเกมชัดเจน ให้รางวัลเมื่อลูกทำตามที่ตกลงกันไว้ได้ โดยมีคำแนะนำในการกำหนดเวลา ดังนี้ อายุน้อยกว่า 2 ปี ควรงดจออย่างเด็ดขาด อายุ 2-5 ปี ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง และอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป เล่นได้แต่ต้องมีผู้ปกครองควบคุมกติกา โดยที่ระดับความปลอดภัยในการเล่นเกมนั้นอยู่ที่ 9 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ หรือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน
  2. เล่นเกมกับลูก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และให้ทราบว่าลูกกำลังเล่นเกมอะไรอยู่
  3. เลือกประเภทเกมให้เหมาะสมกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกเกมที่เหมาะกับช่วงวัย มีเนื้อหาที่ไม่มีความรุนแรง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะทางความคิด
  4. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ไม่เล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องปรับทัศนคติ ไม่ใช้มือถือเป็นพี่เลี้ยงลูก
  5. พบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในกรณีที่มีอาการติดเกมรุนแรง ควรเข้ารับการบำบัด โดยการรักษาจะต้องดูว่ามีโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โรคติดสารเสพติด โรคจิต และโรคลมชัก หากมีอาการจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วยก็อาจจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยา

แม้ข้อดีของการเล่นเกมนั้นจะทำให้ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน คลายเครียด ฝึกทักษะ สมาธิ การตัดสินใจ การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทระหว่างมือกับตา แต่การเล่นเกมที่มากเกินไป ไม่มีการควบคุมป้องกันนั้น จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทางกาย และจิตใจ ซึ่งการรักษา และการป้องกันโรคติดเกมที่ดีที่สุดนั้น คือ การสร้างระเบียบวินัยที่ดีร่วมกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วยการหากิจกรรมทำร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

ปรึกษาจิตแพทย์เด็ก และนักพัฒนาการเด็กฟรี! ลงทะเบียนเลย


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs