ปกติแล้วเด็กจะพูดคำที่มีความหมายได้คำแรกเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ โดยจะพูดคำที่ออกเสียงง่ายๆ ได้ก่อน เช่น หม่ำๆ แม่ พ่อ ปาป๊า มาม้า และจะพูดได้ 2-3 คำติดกันเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ โดยทั่วไปเด็กที่ถือว่ามีปัญหาพูดช้า ก็คือเด็กที่อายุ 2 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรอให้ลูก 2 ขวบแล้วจึงสังเกต
ลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด…สาเหตุมาจากอะไร?
- ความผิดปกติของร่างกาย เด็กที่มีการได้ยินผิดปกติ เด็กบางคนอาจไม่ได้ยินเลย เด็กบางคนได้ยินไม่ชัดเจนจึงพูดไม่ได้ พูดช้าหรือพูดน้อยกว่าปกติ เด็กมักจะพยายามจ้องมองปากเวลาคู่สนทนาพูด และพยายามสังเกตท่าทางของผู้อื่น สื่อสารกับผู้อื่นโดยการใช้ภาษากาย ใช้ท่าทางประกอบการสื่อสาร
- ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน มักมีความบกพร่องด้านความเข้าใจสถานการณ์ การปรับตัว และความจำ เด็กมักจะพูดช้ากว่าวัย ร่วมกับมีทักษะการเล่นหรือการแก้ปัญหาช้ากว่าเด็กทั่วไป
- ภาวะออทิสติก คือ เด็กที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสารกับผู้อื่น เด็กจะพูดช้าหรือเคยพูดได้แล้ว แต่หยุดไปหรือพูดเป็นภาษาต่างดาว เป็นคำที่ไม่มีความหมาย มีพฤติกรรมแยกตัว ไม่ค่อยเล่นหรือสุงสิงกับคนอื่น ไม่ค่อยสบตาหรือชี้บอกความต้องการ บางคนอาจมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น หมุนตัว มองของที่หมุนได้นานๆ เป็นต้น
- พัฒนาการด้านภาษาผิดปกติ เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ภาษาให้เหมาะสมตามสถานการณ์หรือใช้ภาษาไม่ถูกกาลเทศะ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าสังคม และการสื่อสารกับผู้อื่น
- ขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม เด็กบางคนพูดช้าแบบที่เรียกว่า “ปากหนัก” คือ เด็กมีการรับรู้ภาษาสมวัย เข้าใจ และทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เพียงแต่ไม่เปล่งเสียงพูด ซึ่งเด็กมักจะบอกความต้องการด้วยการชี้บอก หรือใช้ภาษาท่าทางอื่นๆ เด็กบางคนมีประวัติครอบครัวพูดช้าหรือพูดไม่ชัดด้วย ในเด็กกลุ่มนี้มักพัฒนาการพูดต่อไปได้จนเป็นปกติเหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วไปในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพูดช้าผิดปกติหรือไม่?
วิธีที่จะสังเกตว่าลูกน้อยของคุณพูดช้าหรือไม่ ดูได้จาก 2 ส่วนสำคัญ คือ
- ลูกเข้าใจภาษาหรือไม่ คือ เด็กควรจะเริ่มหันมอง ชี้ของที่อยากได้หรือสิ่งที่ตนเองสนใจได้ แต่หากอายุ 15 เดือนแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลย และไม่ตอบสนองกับคำถามง่าย ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจจะมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ลูกใช้ภาษาอย่างไร โดยปกติเมื่อเด็กอายุประมาณ 15 เดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าเจ้าตัวน้อยของคุณออกเสียงพูดที่มีความหมายบ้างหรือไม่ เช่น “หม่ำๆ” เวลาหิว หรือในกรณีที่พยายามสื่อสารหรือชวน เช่น “ปะๆ”
วิธีง่าย ๆ ช่วยกระตุ้นการสื่อสารให้ลูกน้อย
- พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ชวนถาม-ตอบสั้นๆ อาจจะเป็นการพูดคุยในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจอยู่ โดยใช้คำพูดที่กระชับ ออกเสียงอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และชื่นชมลูกเมื่อลูกให้ความร่วมมือ
- อ่านนิทานให้ลูกฟัง และให้ลูกได้มีส่วนร่วมด้วย การอ่านนิทานเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น เพราะนอกจากความสนุกสนาน เพลิดเพลินแล้ว ยังได้เพิ่มคลังคำศัพท์ ฝึกเชื่อมโยงคำศัพท์กับรูปภาพอีกด้วย ในเด็กเล็กคุณพ่อคุณแม่อาจเล่านิทานด้วยภาษาที่สั้นๆ เข้าใจง่าย พร้อมทำท่าทางประกอบหรือทำเสียงให้ดูน่าตื่นเต้น เมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพิ่มการตั้งคำถามเกี่ยวกับนิทานที่กำลังอ่านอยู่เป็นระยะๆ เพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยจอ ไม่ปล่อยลูกไว้กับโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มากเกินไป จากงานวิจัยหลาย ๆ แห่งชี้ให้เห็นว่าการใช้สื่อผ่านจอต่างๆ เหล่านี้ มีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาพูดช้าหรือมีการสื่อสารไม่เหมาะสมตามมาได้
- ฝึกลูกพูด ให้ลูกพยายามสื่อสาร หากลูกแสดงท่าทางบอกความต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดรอ และเปิดโอกาสให้ลูกได้พยายามสื่อสารด้วยคำพูด ก่อนที่จะตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ เช่น หากลูกทำท่าชี้ไปที่ขวดนม แทนที่จะหยิบขวดนมแล้วยื่นให้ลูกทันที คุณพ่อคุณแม่ควรจะหยิบขวดนมขึ้นมาแล้วรอให้เด็กได้พูดคำว่า นม ก่อนที่จะยื่นขวดนมให้แก่เด็ก เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยกำลังพูดหรือใกล้พูด หากสงสัยว่าลูกน้อยมีปัญหาการพูด เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด พูดซ้ำคำ พูดติดอ่าง เป็นต้น แนะนำให้เข้ามาปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการ และพฤติกรรม เพื่อทำการประเมิน และส่งฝึกแก้ไขการพูดให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป