5 วิธี สร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกน้อยวัยอนุบาล

วินัยเชิงบวก คืออะไร ?

การสร้างวินัยเชิงบวก เป็นวิธีจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ใช้วิธีการลงโทษ มีจุดมุ่งหมายให้เด็กเข้าใจ และสามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำ พฤติกรรมใดควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เด็กเกิดการปรับพฤติกรรมไปในแนวทางที่ดีขึ้น และมีผลต่อเนื่องไปในอนาคต

5 วิธี สร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกน้อยอนุบาล

  1. ให้ลูกมีส่วนร่วม และกำหนดกติการ่วมกัน
    การทำข้อตกลงร่วมกันจะทำให้ลูกเข้าใจที่มา เหตุผล และความสำคัญของข้อตกลงมากขึ้นโดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกควบคุมบังคับ ทำให้ลูกทำตามด้วยความเต็มใจหรือสมัครใจที่จะทำเอง
  2. เสนอทางเลือกอย่างมีขอบเขต
    การสอนให้ลูกทำตามขอบเขตพฤติกรรมนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อรับฟัง และตอบสนองความต้องการ และความรู้สึกของลูก เช่น การถามลูกว่า “พรุ่งนี้เช้าหนูจะกินไข่ดาวหรือไข่ต้ม” เป็นหลักการสร้างวินัยเชิงบวกที่ช่วยให้ลูกได้แสดงความต้องการและความรู้สึก และได้รับการตอบสนองซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยจูงใจเด็กให้ตัดสินใจทำได้มากกว่าการบอกให้รู้ เช่น “พรุ่งนี้กินไข่ดาวนะลูก” หรือการเสนอทางเลือกแบบไม่มีขอบเขต เช่น “พรุ่งนี้เช้าจะกินอะไร”
  3. สอนวิธีจัดการอารมณ์ให้ลูก
    การเปิดใจรับฟังจะทำให้ลูกเปิดใจกับพ่อแม่มากขึ้น การแสดงความเห็นอกเห็นใจลูกในขณะที่เขากำลังมีความคับข้องใจ และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการบอกชื่ออารมณ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการสอน เช่น แม่เข้าใจที่หนูโกรธที่เพื่อนมาแย่งของเล่นจากมือหนู หนูถึงตีมือเพื่อน หนูพร้อมที่จะใช้คำพูดดีๆ กับเพื่อนเมื่อไหร่ ให้หนูเดินไปบอกเพื่อนนะคะว่าหนูขอของเล่นคืน และขอโทษที่ไปตีเพื่อนค่ะ
    การทำแบบนี้จะช่วยผ่อนคลายความคับข้องใจของลูกลงให้อยู่ในระดับที่สามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่าอารมณ์ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมคืออะไร และต้องจัดการอย่างไร จะช่วยให้ลูกเข้าใจอารมณ์นั้นได้อย่างลึกซึ้งขึ้น นอกจากนี้การบอกพฤติกรรมที่คาดหวัง พร้อมกับให้เวลาเขาได้คิดว่าจะพร้อมเมื่อไหร่ เป็นการช่วยให้เขาได้เรียนรู้การจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง
  4. ชื่นชมลูก สร้างความมั่นใจ
    หนึ่งในวิธีสร้างวินัยเชิงบวกที่ทำให้เขาทำตามระเบียบวินัยอย่างเต็มใจ การชมที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นการชมที่เจาะจงพฤติกรรมที่ต้องการชม คือ คำชม + ระบุพฤติกรรมเจาะจง + ระบุคุณลักษณะที่อธิบายพฤติกรรมนั้น เช่น “ลูกเก่งมาก ลูกเก็บของเล่นเอง ลูกมีความรับผิดชอบมาก” เมื่อลูกถูกชมเขาจะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เชื่อมั่น และไว้ใจในตัวเขา
  5. พูดคุยในระดับสายตาลูก
    การพูดคุยในระดับสายตาเด็กถือเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ นอกจากจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการฟังมากขึ้น ยังเป็นการแสดงความรัก ความใส่ใจ ความห่วงใย และการให้เกียรติที่ลูกสามารถรับรู้ได้อีกด้วย

การปลูกฝังวินัยเชิงบวกเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำสิ่งที่จะสอนให้เหมือนกันทุกครั้ง และจะต้องสอนไปในทางเดียวกัน เช่น เมื่อคนใดคนหนึ่งลงโทษลูก อีกคนไม่ควรใจอ่อนผ่อนปรนโทษ เพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้ ทำให้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนมาทั้งหมดไม่เกิดผลแต่อย่างใด


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs