1. ยาชาจะอยู่ได้นานกี่ชั่วโมง?
โดยทั่วไปแล้วยาชาจะอยู่ได้นาน 2-4 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิด ปริมาณ และเทคนิคการฉีดยาชา ทั้งนี้การฉีดยาชาในฟันล่าง ผู้ป่วยจะรู้สึกชานานและชาเป็นบริเวณกว้างกว่าการฉีดยาชาในฟันบน
2. แผลถอนฟันจะหายสนิทในเวลากี่วัน?
แผลที่เกิดจากการถอนฟันจะมีลักษณะเป็นแอ่ง เป็นหลุม ตามรูปร่างของรากฟันที่ถูกถอนออก ในวันแรกหลังการถอนฟัน จะมีเลือดไหลซึมออกจากแผล ต่อมาเลือดจะเริ่มแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด และอุดปิดแผลจนเลือดหยุดไหล หลังจากนั้นร่างกายจะมีการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อยึดต่อ สร้างกระดูก และเยื่อบุผิว ตามลำดับ เมื่อแผลถอนฟันหายสนิท แอ่งหลุมก็จะปิดไป และมีเหงือกมาปกคลุม
โดยปกติ ผู้ป่วยจะมีเลือดไหลซึมในวันแรก เมื่อกัดผ้าก๊อซ เลือดจะค่อย ๆ ไหลน้อยลงจนหยุด แผลถอนฟันจะค่อย ๆ หาย แผลตื้นขึ้น และมีขนาดเล็กลง ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แผลจึงหายสนิทดี
3. ถ้าเป็นแผลผ่าฟันคุดต้องใช้เวลานานแค่ไหน กว่าแผลจะหายดี?
โดยทั่วไป ถ้าเป็นการผ่าฟันคุดที่ไม่ยาก ระยะเวลาการหายของแผลจะใกล้เคียงกับการถอนฟันซี่อื่น ๆ คือ ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นการผ่าฟันคุดที่ยาก มีการกรอตัดฟัน หรือกระดูก การหายของแผลอาจต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นกว่าปกติ
การผ่าฟันคุดหรือถอนฟันที่มีการเย็บแผล ผู้ป่วยควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจ และตัดไหมหลังจากวันที่ถอนฟันแล้วในช่วง 7-14 วัน
4. หลังถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
- หลังจากการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ต้องกัดผ้าก๊อซให้แน่นพอสมควรราว 1 ชั่วโมง จึงค่อยคายผ้าทิ้ง หากมีเลือดไหลออกมาอีก ให้กัดผ้าก๊อซชิ้นใหม่ที่สะอาดต่อไปอีก 1 ชั่วโมง
- ถ้าเลือดไหลไม่หยุดภายหลังการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ห้ามอมน้ำแข็ง แต่ควรใช้น้ำแข็งห่อผ้า หรือเจลเย็น ประคบนอกปากบริเวณที่ถอนฟัน หรือบริเวณแผลผ่าตัด
- ไม่ควรบ้วนน้ำหรือน้ำยาบ้วนปากในวันแรก ถ้าจำเป็นให้บ้วนเบา ๆ เพราะการบ้วนปากอาจทำให้เลือดที่กำลังจะแข็งตัวหลุดออก และทำให้ปวดบริเวณแผลได้
- แปรงฟันทำความสะอาดตามปกติ แต่ต้องระวังแผลถอนฟันหรือผ่าตัด
- ถ้าปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์จ่ายให้ และในผู้ป่วยบางรายที่ได้ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) ควรรับประทานจนยาหมด เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ
- ห้ามเอานิ้วมือ ไม้จิ้มฟัน แคะ เขี่ยบริเวณแผล และห้ามดูดแผลเล่น
- ทำงาน ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนัก
- ห้ามดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ ในช่วงวันแรก ๆ
- ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์
- ในกรณีที่เป็นแผลผ่าตัดหรือแผลผ่าฟันคุด ควรประคบด้วยน้ำแข็งห่อผ้า หรือเจลเย็น ภายหลังจากผ่าตัด 1-2 วัน จะช่วยลดอาการบวม ปวด
- มาพบทันตแพทย์เพื่อตัดไหม ประมาณ 7-14 วัน หลังผ่าตัด
5. อายุเท่าไหร่จึงเหมาะสมสำหรับการผ่าฟันคุด?
ช่วงอายุที่เหมาะสมในการผ่าฟันคุดคือ 16-20 ปี เนื่องจากช่วงนี้รากฟันยังเจริญไม่เต็มที่ คือยาวประมาณ ½ – ⅔ ของรากฟัน กระดูกที่ปกคลุมฟันคุดยังไม่แข็งมากนัก ทำให้ง่ายต่อการกรอกระดูกและตัดฟัน ช่วยลดผลเสียที่จะเกิดกับเนื้อเยื่อของฟันกรามซี่ที่อยู่ข้างเคียง และยังเป็นวัยที่มีสุขภาพแข็งแรง มักจะไม่มีโรคประจำตัว มีการซ่อมแซมร่างกายดี แผลผ่าตัดจะหายได้เร็ว กระดูกสร้างตัวได้เร็ว โดยไม่ค่อยมีปัญหาแทรกซ้อน หรือมีเพียงก็เล็กน้อย
ดังนั้น ผู้ที่มีอายุในช่วงนี้ ควรได้รับการตรวจว่ามีฟันคุดในช่องปากหรือไม่ และควร X-ray ดูตำแหน่งของฟันคุดว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อทันตแพทย์จะได้วางแนวทางในการรักษาต่อไป
6. หากปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ จะส่งผลเสียอย่างไร?
- ทำให้มีการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟันคุด (Pericoronitis) เนื่องจากมีเศษอาหารไปติดตรงฝาเหงือกที่มาคลุมฟันคุด ร่วมกับมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เหงือกอักเสบ ปวด บวมแดง
- ทำให้ฟันข้างเคียงผุ จากการที่ฟันคุดไปดันฟันข้างเคียง และเศษอาหารติดตรงซอกฟันที่เบียดกัน ผู้ป่วยจะทำความสะอาดได้ยาก
- ทำให้เกิดโรคปริทันต์ (Periodontitis) เนื่องจากฟันคุดดันฟันข้างเคียง และมีแรงดันที่กระดูกหุ้มรากฟัน ทำให้กระดูกด้านข้างฟันละลาย เกิดปัญหาด้านปริทันต์ต่อฟันกรามข้างเคียงได้ เช่น ฟันโยก เหงือกร่น
- รากฟันข้างเคียงละลาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
- ผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมถอดได้ แล้วตรวจพบว่ามีฟันคุดที่ยังไม่ได้เอาออกฝังอยู่ข้างในกระดูกใต้เหงือก เมื่อใส่ฟันปลอมไปนาน ๆ อาจทำให้ฟันปลอมกดเหงือก เป็นเหตุให้กระดูกที่คลุมฟันคุดอยู่มีการละลายตัว และฟันคุดอาจโผล่พ้นกระดูกหรือเหงือกได้ ทำให้ต้องผ่าฟันคุด ในขณะที่ผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในช่วงที่มีสุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัว การผ่าตัดก็จะยุ่งยากมากขึ้น
- อาจทำให้เกิดถุงน้ำ และเนื้องอกของฟันคุด (Odontogenic cysts and tumors)
- อาจทำให้มีอาการปวดฟัน หรือปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- การมีฟันคุดฝังตัวอยู่ในกระดูกขากรรไกร จะทำให้กระดูกบริเวณนั้นไม่แข็งแรง ถ้าได้รับอุบัติเหตุ แรงกระแทก อาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายกว่าปกติ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยจัดฟัน ควรจะต้องผ่าฟันคุดออก เพื่อช่วยในการจัดฟันทำได้ง่ายขึ้น หรือป้องกันฟันซ้อนเกภายหลังจัดฟัน เนื่องจากแรงดันจากฟันคุดอาจมีผลทำให้ฟันที่จัดแล้วล้มเอียงได้ หรือฟันคุดที่เพิ่งขึ้นมาหลังจัดฟันอาจทำให้ใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers) ไม่ได้ หรือใส่ลงไม่สนิท
7. หลังผ่าเสร็จจะมีอาการอย่างไร ปวดบวมมากน้อยแค่ไหน?
- หลังผ่าฟันคุดเสร็จ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น มีเลือดออกจากแผล เกิดการอักเสบของแผล และอาจมีอาการชาหลังผ่าฟันคุดได้
- เลือดออกจากแผล ให้กัดผ้าก๊อซแน่น ๆ ไว้ 1-2 ชั่วโมง เลือดจะไหลซึมช้า ๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และลดลงจนหยุดสนิท
- อาการอักเสบของแผล คือ ปวด บวม แดง ร้อน และสูญเสียการทำงานของอวัยวะบริเวณนั้น ๆ เช่น อ้าปากได้น้อยลง ปกติแล้วอาการอักเสบจะเป็นอาการชั่วคราว ภายใน 2-3 วัน อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดน้อยลง
- อาการปวดหลังถอนฟันมักเป็นการปวดที่ไม่รุนแรง บรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด อาการปวดจะปรากฏในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังถอนฟัน และจะค่อย ๆ ลดลง โดยปวดไม่เกิน 2 วันหลังถอนฟัน
- อาการบวม มักจะบวมในช่วง 2-3 วันแรก และยุบลงเรื่อย ๆ อาจใช้น้ำแข็งห่อผ้า หรือเจลเย็นประคบบริเวณแผลหลังผ่าตัด เพื่อช่วยลดปวดและบวม หากอาการบวมเพิ่มมากขึ้น อาจมีการติดเชื้อของแผล ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
- อาการชาภายหลังผ่าฟันคุดเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย โดยมากจะเกิดกับการผ่าฟันคุดล่าง เนื่องจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณฟัน แก้ม และริมฝีปากเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดจากแรงกด แรงกระทบกระเทือนขณะผ่าฟันคุดที่อยู่ในตำแหน่งลึกมาก ผู้ป่วยมักจะชาบริเวณริมฝีปากหรือลิ้น มีการรับความรู้สึกลดลง เหมือนฤทธิ์ของยาชายังไม่หมด อาจมีการเสียวฟันบริเวณฟันหน้าล่าง แต่ไม่ได้มีผลกับการพูด การขยับปาก หรือการได้ยินลดลง ถ้ามีการกระเทือนต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณลิ้น อาจมีความรู้สึกว่าลิ้นหนา ซ่า ๆ ที่ลิ้น การรับความรู้สึกร้อนเย็นเปลี่ยนไป ซึ่งสามารถหายได้เป็นปกติ แต่อาจต้องใช้เวลานาน ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 1 ปี ขึ้นกับความรุนแรงของการกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท ในบางครั้งอาจให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินบีเพื่อช่วยบำรุงเส้นประสาท ทำให้อาการชาลดลงได้
8. ผ่าฟันคุด หรือถอนฟันแล้ว ยังคงมีอาการปวดมากไม่หาย กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย ซึ่งถ้าเป็นอาการของ กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket) จะต้องทำอย่างไร?
- กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket, Alveolar osteitis) พบได้บ่อยหลังถอนฟัน โดยเฉพาะการผ่าฟันคุดล่าง อันเกิดจากลิ่มเลือดที่อยู่ในเบ้าฟันละลายทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้ผิวกระดูกของแผลถอนฟันไม่มีอะไรปกคลุม มักเกิดหลังถอนฟันไปแล้ว 3-4 วัน จึงทำให้มีอาการปวดปานกลางจนถึงรุนแรง อาจปวดร้าวไปที่บริเวณหน้าหู และศีรษะ แผลถอนฟันจะมีกลิ่นเหม็น รู้สึกมีรสชาติผิดปกติในปาก แผลถอนฟันจะมีสีเทาของเนื้อเยื่อที่อักเสบ ส่วนสาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
– การถอนฟันหรือผ่าฟันคุดที่ยาก ทำให้มีการบาดเจ็บต่อกระดูกเบ้าฟัน
– มีการติดเชื้อทำให้มีการละลายของลิ่มเลือดในกระดูกเบ้าฟัน
– การดูดแผลและบ้วนน้ำบ่อย ๆ หลังถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกจากแผลถอนฟันจากการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องกลับมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษา ดังนี้
- ทำการ X-ray เพื่อตรวจดูสิ่งแปลกปลอม หรือรากฟันที่อาจหลงเหลืออยู่
- ล้างแผลถอนฟันให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ อาจพบมีเศษลิ่มเลือดที่สลายตัวสีเทา ๆ หลุดออกมา แต่ไม่ต้องขูดทำความสะอาด (Curette) เพราะอาจจะรบกวนการหายของแผล และทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้
- ใส่ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดลงไปในแผลถอนฟัน ยาที่ใส่ลงไปมีหลายชนิด ได้แก่ Analgesic dressing เป็นผ้าก๊อซชุบยาแก้ปวด (Clove oil ผสมกับ vaseline) ถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วยอาจใส่เป็น Iodoform gauze (ผ้าก๊อซชุบผง iodoform ผสมกับ glycerine) หรืออาจใส่ยา Alvogyl ซึ่งมีฤทธิ์ทั้งแก้ปวดและฆ่าเชื้อ มีลักษณะเป็นเส้นใยสีน้ำตาล ใส่ลงไปในแผลถอนได้โดยตรง ส่วนประกอบของ Alvogyl มี Butamben ซึ่งเป็นยาชา และ Eugenol ช่วยลดอาการปวด ผสมกับ Iodoform ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อ
- ผู้ป่วยควรกลับมาล้างแผล และเปลี่ยนยาทุกวัน หรือวันเว้นวัน เป็นเวลา 3-6 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของการปวด
- รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ยา Antibiotics ในผู้ป่วยทุกราย
การรักษา Dry socket นั้น มีจุดมุ่งหมายในการช่วยลดอาการปวดแผลถอนฟันหรือผ่าฟันคุด ไม่ได้มุ่งทำให้แผลหายเร็วขึ้น โดยปกติ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนหายเอง แต่ต้องใช้เวลานานราว 10-20 วัน