หูชั้นใน ประกอบด้วยระบบการทรงตัว และระบบการได้ยินที่อยู่ติดกัน ในระบบนี้มีน้ำอยู่ภายใน แต่ถ้ามีความผิดปกติใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากผิดปกติ ก็จะทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก ขัดขวางการทำงานของกระแสประสาททั้งการได้ยิน และการทรงตัว ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะทรงตัวไม่ดี สูญเสียการได้ยิน และตึง ๆ หน่วง ๆ ในหูข้างนั้น
โรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากันหรือโรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) พบค่อนข้างบ่อย เป็นโรคที่พบอันดับสองของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ มักเป็นหูข้างใดข้างหนึ่งก่อน และมีประมาณ 15-20% ที่เป็นหูทั้งสองข้าง
อาการของโรค
- อาการเวียนศีรษะ มักจะเกิดขึ้นฉับพลันนานเกินกว่า 20 นาที (บางรายอาจเป็นนานหลายชั่วโมง) แต่ไม่ทำให้หมดสติหรือเป็นอัมพาต นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน
- การได้ยินลดลง ขณะมีอาการเวียนศีรษะ ซึ่งระยะแรกอาจเป็นๆ หายๆ แต่อาการจะดีขึ้น เมื่ออาการเวียนศีรษะหายไป แต่ถ้าเป็นซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง การได้ยินมักจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนหูตึงได้
- หูอื้อ เสียงดังในหู จะเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติ อาจเป็นตลอดเวลาหรือเฉพาะเวลาเวียนศีรษะก็ได้
- อาการหนักๆ หน่วงๆ ในหู คล้ายมีแรงดันในหู บางคนอาจบอกว่าปวดหน่วง ๆ ความถี่ของการเกิดอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นปีละครั้ง บางคนเป็นหลาย ๆ เดือนครั้ง
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- กรรมพันธุ์ มีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติแต่กำเนิด
- โรคภูมิแพ้
- การติดเชื้อไวรัส, หูชั้นกลางอักเสบ, หูน้ำหนวก, ซิฟิลิส
- ประวัติเคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- โรคทางกาย เช่น เบาหวาน, ไทรอยด์, ไขมันในเลือดสูง
การวินิจฉัย
การซักประวัติอย่างละเอียด และการตรวจร่างกายมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรค แม้คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการที่เข้าข่าย แต่มักพบว่า 50% เท่านั้นที่มีอาการเด่นชัด ซึ่งในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจการได้ยิน (Audiogram)
- การตรวจการทรงตัว (Electrony stagmography ; ENG)
– เพื่อดูว่าเป็นหูข้างใด ที่มีพยาธิสภาพ
– ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
– แยกโรคจากเวียนศีรษะที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง
– พบว่า 50% ของผู้ป่วยน้ำในหูชั้นใน ไม่เท่ากัน มีความผิดปกติของการตรวจนี้ - การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน (Electro cochleography; ECOG) เป็นการวัดการได้ยินระดับหูชั้นใน พบว่า มีความไว 65-70% ในการ ตรวจพบความผิดปกติของคนไข้ แต่มีความเฉพาะเจาะจงสูง (Specificity) 95% คือถ้าตรวจออกมาได้ผลบวก ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นโรคนี้
- การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response; ABR) เป็นการวัดการได้ยินระดับก้านสมอง เพื่อแยก โรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาทการได้ยินหลังหูชั้นใน เข้าไปอีก เช่น การตรวจหาเนื้องอกที่ประสาทการ ได้ยิน
- การทำ MRI หรือ CT-Scan สมอง และหูชั้นใน มักไม่จำเป็นในการวินิจฉัย แต่อาจใช้กรณีช่วยแยกโรคที่สงสัยว่าเกิดจากเนื้องอกที่เส้นประสาทการได้ยินหรือการทรงตัว
การรักษา
- การปฏิบัติตัว
– ขณะมีอาการควรหลีกเลี่ยงการขับรถ, การยืนที่สูง
– พักผ่อนให้เพียงพอ การอดนอนมักกระตุ้นให้มีอาการ
– งดอาหารเค็ม
– พยายามลดความเครียด
– งดเหล้า, บุหรี่, ชา, กาแฟ
– หลีกเลี่ยงเสียงดังมาก ๆ
– การบริหารประสาทการทรงตัว จะทำให้สมองปรับตัวเร็วขึ้น - การให้ยา 80% จะหายได้ด้วยการให้ยา ได้แก่
– ยาขับปัสสาวะ
– ยาขยายหลอดเลือด
– ยาแก้อาการเวียนศีรษะ
– ยาแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน
– ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ - การฉีดยา Gentamicin เข้าหูชั้นกลาง เพื่อให้ซึมเข้าหูชั้นใน เพื่อควบคุมอาการ เวียนศีรษะ ใช้ในกรณีที่กินยาไม่ได้ และยังเวียน ศีรษะอยู่
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีคนไข้มีอาการมาก และรักษาวิธีการใช้ยาข้างต้นไม่ได้ผล
แผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา เปิดบริการสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหู คอ จมูก และกล่องเสียง โดยแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก และกล่องเสียง มีเครื่องมือที่ทันสมัย ส่องเห็นรอยโรคในขณะตรวจด้วยตาของคุณเอง ทำให้เข้าใจในขณะที่แพทย์อธิบายถึงพยาธิสภาพ และแนวทางการรักษาได้อย่างชัดเจน รวมทั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การตรวจหาความผิดปกติของการได้ยินด้วยเครื่องมือพิเศษ การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเยื่อแก้วหู การผ่าตัดในภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาโรคริดสีดวงจมูก และภูมิแพ้ การผ่าตัดรักษาอาการเสียงแหบ การผ่าตัดรักษาโรคไทรอยด์ และมะเร็งของต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดมะเร็งของกล่องเสียง คอ และช่องปาก