ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด ตรวจง่าย ปลอดภัย ไม่น่ากลัว

การส่องกล้องกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกว่า Gastroscopy คือ การตรวจภายในกระเพาะอาหารด้วยกล้องขนาดเล็ก เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยโรคได้ชัดเจนด้วยตาของตนเอง เป็นวิธีการวินิจฉัยโรคในกระเพาะอาหารที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารมีหลายแบบ แต่การส่องกล้องที่พูดถึงกันบ่อย ๆ มักมีอยู่ 2 แบบ คือ

  • EGD หรือการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
  • Colonoscopy หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ข้อดีการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

ในอดีตหลายคนคิดว่าอาการปวดท้องเป็นผลจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือรับประทานอาหารรสจัดเท่านั้น หากรักษาไม่ถูกต้อง อย่างมากก็ทำให้อาการปวดท้องรุนแรงขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดเนื้อร้ายใดๆ แต่ในปัจจุบัน ความเชื่อนั้นอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด

ทั้งนี้ เพราะสาเหตุของอาการปวดท้องหลายอย่าง อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ซึ่งองค์การอนามัยโรค หรือ WHO จัดเป็นเชื้อก่อมะเร็ง หรือ Carcinogen ชนิดหนึ่ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเนื้อกระเพาะอาหารบางรูปแบบ เช่น Intestinal Metaplasia ก็อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้เช่นกัน ภาวะเสี่ยงเหล่านี้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น สามารถรับประทานยารักษาจนหายเป็นปกติได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัดใดๆ

อาการผิดปกติใดที่ควรส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

  • เริ่มมีอาการปวดท้องครั้งแรกในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป
  • มีอาการปวดท้อง ร่วมกับภาวะหนึ่งต่อไปนี้
    – เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    – รับประทานยาลดกรดต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ อาการยังไม่หายสนิท
    – ท้องอืด แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำก้อนได้ในท้อง
  • ปัญหาด้านการกลืน เช่น กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
  • อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดสีแดงหรือดำ
  • คลื่นไส้อาเจียนเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องเสียเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการกรดไหลย้อน ที่รับประทานยารักษาต่อเนื่อง แต่อาการไม่หายสนิท
  • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ที่มีแรงดันเส้นเลือดในช่องท้องสูง

 การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยการตรวจโดยทั่วไปใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งแพทย์จะมีวิธีทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการส่องกล้อง ตั้งแต่การพ่นยาชาที่คอ เพื่อให้ในบริเวณคอไม่มีความรู้สึกก่อน จึงเริ่มส่องกล้องได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนแม้ในคออาจชาแล้ว แต่อาจยังรู้สึกหวาดเสียวบ้าง ทีมวิสัญญีแพทย์ก็จะให้ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์สั้น เพื่อให้ผู้ป่วยหลับในระยะสั้นๆ ระหว่างการตรวจ

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

หลังจากผู้ป่วยชาบริเวณคอเต็มที่ หรือหลับสนิทแล้ว แพทย์จะนำกล้องซึ่งเป็นสายยางขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ใส่ผ่านปากและคอลงไป ปลายกล้องจะมีหลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างระหว่างการตรวจ

แพทย์จะเริ่มตรวจดูตั้งแต่ในคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น หากเจอโรคหรือความผิดปกติ แพทย์จะสามารถนำตัวอย่างเนื้อที่เห็น ออกมาตรวจได้ทันที

กรณีพบติ่งเนื้องอกขนาดเล็ก แพทย์ยังมีเครื่องมือในการตัดติ่งเนื้อออกเพื่อการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน โดยจะใช้เวลาเพิ่มเติมไม่เกิน 2-3 นาที การตัดติ่งเนื้อนี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพิ่มเติมแต่อย่างใด

หลังส่องกล้องกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ ควรรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ประมาณ 15-30 นาที จึงค่อยเริ่มจิบน้ำ หากไม่รู้สึกชาในคอหรือกลืนลำบากแล้ว จึงสามารถเริ่มรับประทานอาหารอ่อนได้

ในกรณีที่ใช้ยานอนหลับ ยาอาจมีฤทธิ์จนถึงช่วง 5-15 นาที หลังแพทย์ส่องกล้องเสร็จ ผู้ป่วยควรนอนพักจนร่างกายตื่นเต็มที่ จากนั้นจึงค่อยไปพบแพทย์เพื่อฟังผลตรวจ


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors