เลือกตรวจแบบไหนดี? อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน-ส่วนล่าง

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน-ส่วนล่าง โปรแกรมที่มักอยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งปัญหาคือเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไรให้ตอบโจทย์ วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับการตรวจสุขภาพคัดกรองโรคโดยเครื่องมืออัลตราซาวด์ทั้งส่วนบนและส่วนล่างว่าแต่ละแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร? และสามารถช่วยตรวจหาโรคอะไรได้บ้าง?

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง คืออะไร?

การอัลตราซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound Scanning) คือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงความผิดปกติ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ โดยทั่วไปการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เพราะเป็นเพียงการใช้หัวตรวจเคลื่อนที่ไปบนผิวหน้าท้องภายนอก ไม่ต้องมีการใช้ยาชาหรือฉีดยา อีกทั้งคลื่นเสียงที่ใช้ก็มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ทำไมต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง?

  • เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป เช็กอวัยวะภายในช่องท้องตามช่วงอายุ หรือตามโปรแกรมในรายการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความผิดปกติในขณะที่ยังไม่มีอาการ เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อในตับ
  • ตรวจกรณีที่สงสัยว่าจะมีก้อนในช่องท้อง, ช่วยแยกว่าก้อนนั้นน่าจะมาจากอวัยวะใดและลักษณะของก้อนนั้นว่ามีส่วนประกอบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
  • ตรวจเมื่อมีอาการปวด ตึง หรือแน่นท้อง เป็นประจำหรือเรื้อรัง หรือมีการเพิ่มขนาดของอวัยวะในช่องท้อง หรือผลเลือดแสดงว่าค่าตับผิดปกติ
  • ตรวจเพื่อนำทางในการตัดเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกในร่างกายไปตรวจ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำหัตถการ
  • ตรวจซ้ำเพื่อติดตามผล เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างที่ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือเพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ

อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน – ส่วนล่าง แตกต่างกันอย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen หรือ Upper Adomen Ultrasonography) เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดีส่วนต้น, ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่, ตับอ่อน (บางรายเห็นได้บางส่วน) ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วที่ไต นิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น ผู้ที่จะตรวจส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen หรือ Lower Adomen Ultrasonography) เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ มดลูก, รังไข่ (หญิง), ขนาดของต่อมลูกหมาก (ชาย), กระเพาะปัสสาวะ, ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่าง อื่น ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่, ก้อนเนื้อในมดลูก, ต่อมลูกหมากผิดปกติ เป็นต้น การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง มักจะตรวจกันมากในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ หรือประจำเดือนผิดปกติ ตรวจโดยใช้หัวตรวจ และทำการตรวจบริเวณหน้าท้องการตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร (ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำเปล่าและต้องกลั้นปัสสาวะ) เนื่องจากลมในลำไส้จะบดบังมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงหรือต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำให้มองเห็นภาพอวัยวะได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอ กระเพาะปัสสาวะจะขยายออกช่วยให้เห็นต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

วิธีเตรียมตัว เมื่อต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

  • การตรวจช่องท้องส่วนบน : ควรงดอาหารที่มีไขมัน และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • การตรวจช่องท้องส่วนล่าง : ควรดื่มน้ำเปล่า (อย่างน้อย 500 ml.) และกลั้นปัสสาวะไว้

ขั้นตอนในการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องจะทำการตรวจโดยแพทย์ ผู้เข้ารับการตรวจเพียงนอนลงบนเตียง จากนั้นแพทย์จะทาเจลเย็น ๆ ลงบนผิวหนังในบริเวณที่จะทำการตรวจ เพื่อช่วยในการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่าง ๆ ในขณะที่ตรวจ แพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจบนผิวหนังหรือร่างกายส่วนที่จะตรวจเบา ๆ แล้วเคลื่อนไปจนทั่วบริเวณที่ตรวจ โดยแพทย์และผู้ป่วยจะมองเห็นภาพอวัยวะจากการตรวจบนจอเครื่องตรวจไปพร้อม ๆ กัน การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10-45 นาที ขึ้นกับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตรวจและความผิดปกติ

หลังการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องมักไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และสามารถกลับบ้านได้ทันที ผู้เข้ารับการตรวจสามารถขับรถ ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ผลการตรวจอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่จะทราบได้หลังจากการตรวจเสร็จสิ้น โดยจะมีการวิเคราะห์ภาพที่ได้จากการอัลตราซาวด์และส่งรายงานไปยังแพทย์ที่สั่งตรวจ หลังจากนั้นแพทย์จะอธิบายหรือพูดคุยเกี่ยวกับผลลัพธ์การตรวจภายในวันเดียวกัน ว่าช่องท้องของคุณปกติดีหรือมีความผิดปกติบริเวณอวัยวะส่วนไหนหรือไม่


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors