ทำความรู้จัก ‘ต่อมไทรอยด์’ ให้มากขึ้น
ต่อมไทรอยด์มีลักษณะเหมือนผีเสื้อ อยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือก ขนาดยาวประมาณ 4 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหาร ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก โดยฮอร์โมนสำคัญที่ถูกผลิตจากต่อมไทรอยด์ คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต พัฒนาการของร่างกาย รวมไปถึงควบคุมการเผาผลาญ การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย
สัญญาณเตือนเสี่ยงไทรอยด์
แบ่งเป็นสัญญาณเตือนทางด้านร่างกายและจิตใจ
ทางด้านร่างกาย
- อ้วนขึ้น หรือผอมลงอย่างผิดปกติ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
- เหงื่อออกเยอะ หรือรู้สึกหนาวตลอดเวลา
- นอนไม่หลับ หรือรู้สึกง่วงตลอดเวลา
- หิวบ่อย หรือไม่หิว กินไม่ค่อยลง
- สายตาพร่ามัว
- ขับถ่ายไม่เป็นปกติ เข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง หรือมีอาการท้องผูก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- เสียงเปลี่ยน หรือมีอาการคอบวม
- เหน็บชา หรือปวดกล้ามเนื้อไม่ทราบสาเหตุ
ทางด้านจิตใจ
- รู้สึกซึมเศร้ามากผิดปกติ
- กระวนกระวายใจ
- คิดสับสน ฟุ้งซ่าน
- อารมณ์ทางเพศลดลง
5 ประเภท ของโรคต่อมไทรอยด์
- ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย ส่งผลให้ฮอร์โมน Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) ถูกผลิตออกมามากเกินไปจนกลายเป็นพิษ และด้วยหน้าที่หลักของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด คือ ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อถูกผลิตออกมามากเกินไป ก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักขึ้น น้ำหนักจึงลดลงเร็วอย่างผิดปกติ รวมถึงอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน และมีอารมณ์ฉุนเฉียว
- ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ จะพบมากขึ้นตามอายุ ทำให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone) ออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น ทำให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้นหรือคอพอก คนไข้จะมีอาการอาการอ่อนเพลีย ผิวหยาบกร้านและแห้ง ผมแห้ง ขี้ลืม อารมณ์ผันผวน เสียงแหบ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ขี้หนาว เบื่ออาหาร กลืนลำบาก โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ การตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับน้ำแร่ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
– ชนิดกึ่งเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมไทรอยด์โต คลำบริเวณต่อไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ
– ชนิดเรื้อรัง เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการคอโต แต่กดไม่เจ็บ หรือเคยมีประวัติคอโตแล้วยุบไปโดยไม่ได้รับการรักษา - ต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid Nodule) คือ ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตอย่างเดียว แต่ยังคงสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการคอโตกว่าปกติ (คอพอก) เป็นก้อนถุงน้ำ โดยไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ มักมีสาเหตุมาจากการขาดไอโอดีน
- มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบก้อนโตบริเวณต่อมไทรอยด์ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เสียงแหบและกลืนลำบาก แพทย์จะตรวจโดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน และอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์เพื่อให้เห็นก้อนเนื้ออย่างละเอียด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดจากได้รับการฉายรังสีในบริเวณคอ หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
วิธีตรวจ… เพื่อเช็กความเสี่ยงโรคไทรอยด์
- ตรวจระดับฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone) ที่สร้างจากต่อมใต้สมอง Pituitary Gland ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ Thyroid Gland สร้างฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine) ค่า TSH จะขึ้นกับระดับไทรอยด์ฮอร์โมน หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้ด้วยตัวเอง ค่า TSH จะต่ำ แต่หากไทรอยด์ฮอร์โมนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ค่า TSH จะสูง
- ตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine) ฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไทรอยด์
- ตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณต่อมไทรอยด์
- ปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านไทรอยด์
วิธีการรักษาเมื่อพบความผิดปกติ จากโรคไทรอยด์
- รักษาด้วยยา ในระหว่างทำการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม เพราะหากรับประทานยาไม่ต่อเนื่องอาจทำให้อาการของต่อมไทรอยด์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยากต่อการควบคุม
- รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน มักพิจารณาใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีอาการค่อนข้างรุนแรง หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากที่รักษาด้วยยามาแล้ว
- รักษาด้วยการผ่าตัด วิธีนี้แพทย์มักพิจารณาเลือกเป็นขั้นตอนสุดท้าย สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากขึ้น แพ้ยาที่ใช้ในการรักษา หรือเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือด และหลอดเลือด
หากคุณรู้สึกมีอาการผิดปกติตามสัญญาณข้างต้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด และนำผลมาวินิจฉัยความเสี่ยงที่มีต่อโรคต่อไทรอยด์ เพื่อการป้องกันและรักษาได้อย่างทันเวลา