วิธีป้องกัน “ไข้หวัดใหญ่” ทุกสายพันธุ์

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เชื้อนี้อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และแพร่ผ่านละอองฝอยจากการไอ และจาม ผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับเชื้อประมาณ 1-4 วัน ไข้หวัดใหญ่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และช่วงฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี

อาการของไข้หวัดใหญ่

อาการหลัก ๆ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ เบื่ออาหาร โดยปกติแล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามพบว่าในผู้ป่วยบางกลุ่ม อาการอาจรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงจาก ไข้หวัดใหญ่

  1. กลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง คือ
    – กลุ่มหญิงตั้งครรภ์
    – กลุ่มผู้สูงอายุ
    – กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน
    – กลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคธาลัสซีเมีย และผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
  2. กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่
    – เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี
    – ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือ BMI> 35 kg/m²

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการแนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยแนะนำให้ฉีดก่อนเริ่มฤดูฝน และก่อนเริ่มฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ เพื่อช่วยลดความรุนแรงจากการป่วย และการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ และลดการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ ทั้งนี้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสทั้งสายพันธุ์ A และB (A/H1N1, A/H3N2, B/Victoria, B/Yamagata) ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และเสียชีวิตได้ดี โดยจะเกิดภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์ และมีอายุได้นาน 1 ปี วัคซีนไข้หวีดใหญ่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว จึงมีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ดี

อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. อาการที่พบได้ทั่วไป มักจะมีอาการหลังได้รับวัคซีนไม่นาน และจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน
    – บวมแดงบริเวณที่ฉีด
    – มีไข้ต่ำ ๆ
    – ปวดเมื่อยตัว
    – ไอ
    – น้ำมูกไหล
    – เจ็บคอ
  2. อาการแพ้ จะเกิดขึ้นทันทีหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีด ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากวัคซีนนั้นมีน้อยมาก โดยอาการแพ้ที่มักจะพบ ได้แก่
    – หายใจไม่สะดวก
    – ลมพิษ
    – ตัวซีดขาว
    – อ่อนเพลีย
    – หัวใจเต้นเร็ว
    – เวียนศรีษะ
    หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. ไม่ควรฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  2. ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง
  3. ผู้ที่มีไข้หรือเจ็บป่วยควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. ไม่ควร นวด คลึง บริเวณที่ฉีด
  2. หากมีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
  3. หากมีอาการผิดปกติรุนแรง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors