อาการ และวิธีรักษาโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3, DENV-4 มักพบในประเทศเขตร้อนชื้น และถูกจัดให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังในประเทศไทย เพราะมีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี แต่ในปัจจุบันพบได้ตลอดทั้งปี

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 24,090 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย ถือเป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และมีแนวโน้มที่จะพบในวัยผู้ใหญ่มากขึ้นอีกด้วย

อาการของไข้เลือดออก

อาการคล้ายการติดเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไป แต่มักไม่พบอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก

  • มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศา ประมาณ 2-7 วัน
  • เบื่ออาหาร ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • ปวดศีรษะ หน้าแดง บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามผิวหนัง เช่น แขนขา และลำตัว
  • อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน และอุจจาระปนเลือด
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ และอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด

วิธีการรักษา โรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก เป็นการรักษาไปตามอาการ โดยในรายที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน นอกจากนี้ยังมีวิธีการดูแลตัวเองแนะนำเพิ่มเติม คือ

  1. ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  2. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ
  3. รับประทานอาหารอ่อน
  4. ห้ามรับประทานยาแอสไพริน และยากลุ่ม NSAID เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย และมากขึ้น

หากพบว่าผู้ป่วยอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก

  1. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะตอนกลางวัน เพราะยุงลายมักกัดในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน
  2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย บริเวณบ้าน และบริเวณใกล้เคียง
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะผู้มีประวัติเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่ 0, 6, 12 เดือน หลังจากฉีดครบแล้ว พบว่าสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65.6% ลดความรุนแรงของโรคได้ 92.9% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80.8%

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors