เช็ก เชื้อ เอช.ไพโลไร ก่อนกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

เอชไพโลไร (H.pylori) คืออะไร?

เชื้อ H.pylori หรือ Helicobacter pylori (เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร) เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร ไม่ก่ออันตราย แต่ในบางรายที่มีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้ ผู้ติดเชื้อเอชไพโลไรส่วนมากจะมีภาวะกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แต่อาจไม่มีอาการแสดง

H.pylori เป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารจริงหรือ?

เชื้อ เอชไพโลไร (H.phylori) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารที่จะนำไปสู่มะเร็งกระเพาะอาหาร แม้เชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) จะสามารถเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งมากขึ้นได้ แต่การเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารนั้นจะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด, การมีติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร, และปัจจัยอื่น ๆ อาทิ สูบหรี่, มีภาวะอ้วน, การรับประทานอาหารที่มีรอยไหม้ ควัน หมักดอง หรืออาหารที่รสเค็มจัด เป็นต้น

6 อาการ…คุณอาจติดเชื้อเอชไพโลไร

การติดเชื้อ H.pylori โดยส่วนมากจะไม่แสดงอาการ จะมีเพียงร้อยละ 10-15 ที่จะแสดงอาการ โดยอาการที่แสดงออก ได้แก่

  1. ปวดท้อง
  2. คลื่นไส้ อาเจียน
  3. จุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร
  4. เบื่ออาหาร
  5. น้ำหนักลด
  6. กินอาหารแล้วรู้สึกตื้อ แน่นท้อง อิ่มเร็ว

หากติดเชื้อเอชไพโลไรจนทำให้เกิดแผลลุกลาม จะทำให้เกิดการถ่ายสีดำ และอาเจียนเป็นเลือดได้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา และวางแผนการรักษา

วิธีการตรวจ H.pylori

ในปัจจุบันมี 3 วิธี โดยจะเรียงตามลำดับความแม่นยำได้ ดังนี้

  1. การส่องกล้องกระเพาะอาหาร เป็นการส่องกล้องทางเดินกระเพาะอาหารส่วนบนเพื่อตัดชิ้นเนื้อ โดยจะทราบผลภายใน 30 นาที
  2. การเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test) คือ การตรวจวัดปริมาณแอมโมเนีย เนื่องจากเชื้อเอไพโลไรสามารถเปลี่ยนยูเรียให้เป็นแอมโมเนียได้ หากมีปริมาณแอมโมเนียสูงเมื่อเทียบกับคนปกติ แสดงว่ามีเชื้อเอชไพโลไรในระบบทางเดินอาหาร
  3. ตรวจอุจจาระ เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อตรวจหาภูมิต้านทานหรือแอนติเจน ซึ่งสามารถบอกถึงการติดเชื้อได้ โดยจะทราบผลภายใน 30 นาที

เอช.ไพโลไร (H.pylori) สามารถรักษาให้หายได้ และสามารถป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษาการติดเชื้อเอชไพโลไร

  1. การใช้ยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันจะใช้ยาฆ่าเชื้อประมาณ 2-3 ตัว ร่วมกับยาลดกรด โดยจะต้องรับประทาน 10-14 วัน และต้องกินให้ครบ
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารให้ตรงเวลาหรือแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 5-6 มื้อ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้
  3. ระหว่างการรักษา หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน และ ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดการระคายเคือง และเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  4. หากพบว่ายังมีการติดเชื้ออยู่ จะต้องรักษาซ้ำโดยการเปลี่ยนยา เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้ออาจดื้อยา

การป้องกัน

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจัดเตรียม และรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมทั้งอาหารไม่สุก
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัด
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • ผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors