Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือโรคลูปัส เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำงานต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเอง และทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะตามมา โดยระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE ได้แก่ :
เพศ : โรคลูปัสพบได้บ่อยในผู้หญิง
อายุ : แม้ว่าโรคลูปัสจะส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
เชื้อชาติ : โรคลูปัสพบได้บ่อยในชาวแอฟริกันอเมริกัน ฮิสแปนิก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE เกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุของการเกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น
- พันธุกรรม
- ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) ความเครียด
- การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่นๆ
- การใช้ยาบางตัว เช่น Methyldopa, Procainamide, Hydralazine, Isoniazid, Chlorpromazine เป็นต้น
ลักษณะอาการที่พบได้บ่อย
ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และอาการของโรคก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีลักษณะอาการทั่วไป เช่น
- มีผื่นแดงที่ใบหน้า หรือบริเวณที่โดนแดด
- ปวดข้อมือ ข้อนิ้วมือ 2 ข้าง
- ขาบวม
- ผมร่วง
- มีแผลที่เพดานปาก
- ไตอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีฟองมากผิดปกติ
- มีการอักเสบของปอดหรือหัวใจ
- เกิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ
- มีอาการทางสมอง ทำให้ชัก
การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE
แพทย์เฉพาะทางจะทำการประเมิน และตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงทำการตรวจเลือดที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (Antinuclear antibody หรือ ANA) เพื่อสรุปผลการวินิจฉัย และทำการรักษาให้ตรงโรคต่อไป
การรักษา
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นโรคเรื้อรังจึงต้องรักษาระยะยาว โดยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะเป็นช่วงที่ไม่มีอาการก็ตาม โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และวางแผนการรักษา การเลือกใช้ยาให้เหมาะสมนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาปรับภูมิคุ้มกัน ยากดภูมิคุ้มกัน หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์แล้วแต่กรณี
วิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE
- นอนหลับให้เพียงพอ
- ควบคุมความเครียด
- เลี่ยงการออกแดด หากต้องออกแดดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 55
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อด้วยการทานอาหารที่สะอาด
- ทานยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ