‘นอนกรน’ ใครว่าไม่อันตราย

‘นอนกรน’ อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่รู้หรือไม่ การกรนนั้นอันตรายกว่าที่คิด เพราะในความเป็นจริงแล้ว การนอนกรนเป็นปัญหาที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพทั้งตัวผู้กรน และผู้ที่อาศัยด้วยในระยะยาวได้ 

‘อาการนอนกรน’ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

อาการนอนกรน เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการตีบแคบลง เนื่องจากการหย่อนตัว และคลายตัวของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน คอหอย และลิ้นในขณะหลับ มักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึก และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย หากมีอาการมากจะมีอาการนอนกรนในทุกท่านอน

การกรน…อันตรายมากกว่าที่คิด 

การกรนที่อันตราย คือ การกรนที่มีภาวะการหายใจติดขัดหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จนร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้หลับไม่ลึก หัวใจทำงานหนัก เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ ทั้งยังส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล มีอาการง่วงเพลียตอนกลางวัน อารมณ์แปรปรวน และปัญหาสุขภาพอีกมากมาย ซึ่งหากผู้ป่วยเป็นเด็กที่นอนกรนจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ การเรียนรู้ และสติปัญญา จะเห็นได้ว่าการนอนกรนนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด ดังนั้นหากรู้ตัวว่านอนกรนหรือมีคนในครอบครัวนอนกรน ควรเข้ารับการตรวจเช็กว่าอาการนอนกรนของเราอันตรายหรือไม่ เพื่อประเมินความเสี่ยง และดูแลรักษาต่อไป

สังเกตอาการ…เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์

  • นอนกรนดังมากเป็นประจำ
  • กรนสลับหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ 
  • อาการเหมือนหายใจไม่ออก และเหมือนสำลักน้ำลายขณะหลับ
  • นอนกัดฟัน
  • ตื่นมาตอนเช้าไม่สดชื่น รู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม
  • มึนศีรษะในตอนเช้าเป็นประจำ
  • ปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกเจ็บคอเมื่อตื่นขึ้นมา
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน
  • ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ มีผลต่อการตัดสินใจ

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการซักประวัติ และทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยอาจพิจารณาให้ผู้เข้ารับการรักษาทดสอบการนอนหลับ (Sleep Test) ร่วมด้วย เพื่อให้ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ 

Sleep Test สามารถหาสาเหตุความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอน ได้ โดยจะติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ตรวจจับสัญญาณการขยายตัวของปอด และท้อง วัดลมหายใจเข้าออก วัดระดับเสียงกรน

รวมทั้งประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัย และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาภาวะนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

1. รักษาโดยไม่ผ่าตัด

  • เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก, ปรับท่านอนเป็นนอนตะแคง, เข้านอนให้เป็นเวลา, งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ, ยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง เป็นต้น
  • ใส่เครื่องมือในช่องปาก เพื่อป้องกันลิ้นตกอุดกั้นทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับที่เรียกว่า (CPAP) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรง 
  • การใช้ยา ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก และมีปัญหาที่โพรงจมูกตีบแคบ ภูมิแพ้ อาจพิจารณารักษาโดยการให้ยาก่อน

2. รักษาด้วยการผ่าตัด 

การรักษาอาการนอนกรนด้วยการผ่าตัด เป็นการเพิ่มขนาดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขความผิดปกติของร่างกาย โดยการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหา อาการ และความรุนแรงของแต่ละบุคคล ซึ่งมีหลายรูปแบบมาก ได้แก่ 

  • การผ่าตัดจมูกโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงจี้จมูก เพื่อให้จมูกยุบบวมลง
  • การผ่าตัดผนังกั้นจมูกที่คด
  • การผ่าตัดทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ออก
  • การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน
  • การผ่าตัดโคนลิ้น
  • การผ่าตัดขากรรไกร 

การนอนกรนเป็นปัญหาสุขภาพที่มักถูกละเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการกรนไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อผู้กรน แต่ยังส่งผลต่อผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันด้วย ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ และสุขภาพ ดังนั้นหากสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดอาจมีความเสี่ยงภาวะนอนกรนผิดปกติ อาจถึงเวลาที่ต้องปรึกษาแพทย์ และทดสอบการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของอาการ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป 

เพราะสุขภาพที่ดี เริ่มต้นจากคุณภาพการนอนที่ดี

ปรึกษาแพทย์


    Related Doctors