โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง โดยมีผลกระทบต่อความจำและทักษะในการใช้ความคิดเป็นหลัก อาการจะเกิดขึ้นช้าๆ จนนำไปสู่ความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การใส่เสื้อผ้า หรือบิดลูกบิดประตูไม่ได้
จากสภาพสังคมและการใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่หนาแน่นขึ้นในปัจจุบัน อาจทำให้ใครหลายคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดมีความรู้สึกเครียดในการแบกรับภารกิจต่างๆ ที่ต้องแข่งกับเวลาในแต่ละวัน บางครั้งจึงมักเกิดอาการหลงลืมอะไรต่อมิอะไรได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และพอลืมอะไรสักอย่างก็มักจะได้รับคำทักว่า “เอ๊ะ..เป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า” ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะเกิดความวิตกกังวลว่า หรือจะเป็นอัลไซเมอร์จริงๆ
โรคอัลไซเมอร์คืออะไร?
โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง โดยมีผลกระทบต่อความจำและทักษะในการใช้ความคิดเป็นหลัก อาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ คือค่อยเป็นค่อยไปจนนำไปสู่ความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวันที่ง่ายๆ ได้ เช่น การใส่เสื้อผ้าไม่ได้ หรือบิดลูกบิดประตูไม่เป็น เป็นต้น
โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เป็นภาวะปกติในผู้สูงอายุใช่หรือไม่?
โรคอัลไซเมอร์ไม่จำเป็นต้องเกิดกับผู้สูงอายุทุกคน จึงไม่ได้เป็นภาวะปกติในผู้สูงอายุ โรคสองเสื่อมอัลไซเมอร์นี้เกิดจากความผิดปกติในเซลล์สมอง ทำให้มีการสะสมของสารบางอย่างในสมอง โดยระยะแรกจะเกิดความผิดปกติที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ จากนั้นจึงกระจายไปยังสมองส่วนอื่นๆ และทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาทเหล่านั้น ซึ่งก็จะกระทบกับความสามารถในการในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ
จะเริ่มเป็นอัลไซเมอร์เมื่ออายุเท่าไหร่?
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า ความผิดปกติในสมองเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการความจำเสื่อมประมาณ 10-20 ปี
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการอย่างไร?
ในระยะแรกของโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นหลัก เช่น ถามคำถามเดิมซ้ำ จำทางไม่ได้หรือหลงทาง ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน รับประทานอาหารแล้วแต่จำไม่ได้ว่าทานแล้ว คิดเลขหรือทอนเงินผิด อาจมีบุคลิกภาพผิดปกติไป เช่น หงุดหงิดง่าย เชื่องช้าลง
ต่อมาเมื่ออาการอัลไซเมอร์เป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะหลงลืมมากขึ้น จำญาติพี่น้องหรือเพื่อนไม่ได้ เรียนรู้หรือจดจำสิ่งใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่มีหลายขั้นตอน เช่น ใส่เสื้อผ้า เริ่มมีอาการก้าวร้าว อาจมีหวาดระแวงหรือประสาทหลอน
ในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา ดูแลตนเองไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารหรือการกลืน น้ำหนักลด นอนมากขึ้น สูญเสียความสามารถในการควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักอาหารหรือน้ำ
สงสัยว่าญาติเป็นโรคอัลไซเมอร์ต้องทำอย่างไร?
ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นว่ามีลักษณะของโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ โดยแพทย์จะซักถามถึงปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม จากนั้นจะตรวจด้วยการทดสอบความจำและทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา การคำนวณ และการใช้ภาษา ถ้าจำเป็นแพทย์จะส่งตรวจสมองด้วยการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
อาการหลงลืม เบื่อหน่าย เชื่องช้า เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่?
ไม่จำเป็นว่าอาการเหล่านี้จะต้องเป็นอัลไซเมอร์เสมอไป เพราะอาจเป็นโรคอื่นๆ ก็ได้ การตรวจวิเคราะห์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยบอกได้ว่า น่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคของหลอดเลือดสมองเรื้อรัง เนื้องอกในสมอง ภาวะซึมเศร้า หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ซึ่งบางกรณีอาจต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อทำการรักษาให้ตรงโรคต่อไป
มีพ่อหรือแม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้หรือไม่?
ปัจจัยที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม วิธีการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ และปัจจัยทางพันธุกรรม หลักฐานทางการแพทย์พบว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ลูกมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุน้อย คือระหว่าง 30-60 ปี
โรคอัลไซเมอร์รักษาได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการหรือยาที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่จะมียาที่มีใช้อยู่ 3-4 ชนิด ที่ช่วยในการคงความสามารถด้านสติปัญญาและควบคุมพฤติกรรมบางอย่างได้ตั้งแต่ 2-3 เดือนจนถึง 2-3 ปี โดยแพทย์อาจใช้ยาอื่นๆ เสริม เพื่อควบคุมอาการบางอย่าง เช่น ปัญหาการนอนหลับ อาการซึมเศร้า อาการก้าวร้าว หวาดระแวง เป็นต้น ทั้งนี้การดูแลจากญาติพี่น้องก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วย
ควรรีบดูแลรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ควรได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพราะการใช้ยาเร็วจะช่วยคงสภาพหรือยืดความสามารถด้านสติปัญญาได้ในระยะหนึ่ง ร่วมถึงความร่วมมือระหว่างคนไข้ แพทย์ พยาบาล และญาติจะส่งผลดีในด้านการวางแผนการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาวะโดยรวม และอาจช่วยให้ญาติสามารถวางแผนด้านการเงิน หรือด้านกฎหมายบางอย่างเกี่ยวกับผู้ป่วยได้ครบถ้วน ก่อนที่ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถบางอย่างไป