ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างการตั้งครรภ์หรือแม้แต่หลังคลอดแล้ว ภาวะนี้พบได้ราวร้อยละ 5-8 ของการตั้งครรภ์ หากเกิดครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูง ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ โดยอาการมีทั้งแบบที่เป็นน้อยๆ หรือในบางรายก็รุนแรงมากถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้
ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้ มักจะเกิดหลังการตั้งครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ไปจนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด การฝากครรภ์และเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ทราบอาการของโรคนี้ตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์จะดูแล รักษา เพื่อลดความรุนแรงและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการครรภ์เป็นพิษมักเกิดในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรก โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด หรือมีโรคบางอย่างอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ?
- สตรีตั้งครรภ์แรก หรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่
- สตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี
วิธีการปฎิบัติตัวเมื่อมีอาการครรภ์เป็นพิษ
- พักผ่อนให้มาก หมั่นวัดความดันอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
- สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หรือจุกแน่นลิ้นปี่
- พบแพทย์ตามนัด ซึ่งแพทย์จะนัดตรวจบ่อยขึ้นกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
- ถ้ามีอาการมาก แพทย์อาจให้นอนโรงพยาบาล ให้ยาป้องกันชัก และยาลดความดันโลหิต
- ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจจะให้ยุติการตั้งครรภ์
อาการครรภ์เป็นพิษแบบไหน…ที่ต้องรีบไปพบแพทย์?
- ตามัว
- ปวดศีรษะ
- จุกแน่นลิ้นปี่
- ตรวจพบความดันโลหิตสูง
- ลูกดิ้นน้อยลง
- มีเลือดออกจากช่องคลอด
- ท้องแข็งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- น้ำหนักเกินอย่างรวดเร็ว
ครรภ์เป็นพิษทำให้มีภาวะแทรกซ้อนทั้งกับมารดาและทารก
- มารดา อาจเสียชีวิต โดยมักเกิดจากการมีเลือดออกในสมองเพราะหลอดเลือดในสมองแตก เกิดอาการชัก ตาบอด ซึ่งอาจเป็นอาการชั่วคราว
- ทารก อาจมีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และการที่มารดามีภาวะน้ำคร่ำน้อย จะส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักตัวของมารดา ทารกจึงมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ หรือมีการคลอดก่อนกำหนดได้