มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง

มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง… หากพูดถึงมะเร็งในผู้หญิง ชื่อที่เรามักคุ้นหูคงหนีไม่พ้น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูก แต่อีกหนึ่งโรคมะเร็งอย่าง “มะเร็งรังไข่” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายที่สาว ๆ ต้องเฝ้าระวัง เพราะมักไม่มีสัญญาณเตือน หรืออาการบ่งชัด แต่สามารถรู้ทันป้องกันโรคด้วยการตรวจภายใน หรือทำอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิด “มะเร็งรังไข่”

มะเร็งรังไข่เป็นโรคในผู้หญิงที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้

  1. เริ่มมีประจำเดือนเร็วคือก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี เพราะหากฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกผลิตมากเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้
  2. มีคนในครอบครัว หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเต้านม
  3. ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ในกลุ่ม BRCA1 และ BRCA2 จากการตรวจเลือด ซึ่งหากพบความผิดปกติ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ที่ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  4. ผู้ที่มีบุตรยาก และมีการใช้ยากระตุ้นการตกไข่นานต่อเนื่องเกินกว่า 12 เดือน
  5. เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
  6. ผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรมาก่อน
  7. มีประวัติการรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่

สัญญาณเตือนที่ต้องตรวจ เฝ้าระวัง “มะเร็งรังไข่”

ในระยะแรก มะเร็งรังไข่มักจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่คุณผู้หญิงสามารถเริ่มต้นสังเกตุด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • มีอาการท้องอืด, แน่นท้อง
  • ท้องบวม หรือท้องแข็ง
  • ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน
  • คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือกลั้นไม่อยู่
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ซึ่งหากสังเกตเห็นว่าตัวคุณเองมีความผิดปกติตามสัญญาณเตือนข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว เพราะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะแรกมักจะไม่มีอาการ และเมื่อตรวจพบ มะเร็งรังไข่ก็เริ่มลุกลามไปแล้ว

ทำไม? สาวโสด ถึงเสี่ยงมะเร็งรังไข่

เมื่อการเกิดมะเร็งรังไข่นั้นดูจะสัมพันธ์กับการตกไข่ เพราะฉะนั้นคนที่เรียกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรง ก็คือคนที่มีภาวะตกไข่อยู่เป็นประจำ หรือสาว ๆ ที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งเมื่อมีการตกไข่ บริเวณนั้นก็จะเป็นแผล เมื่อเกิดแผลซ้ำ ๆ ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงได้มากขึ้น หรือคนที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน ไม่ว่าจะมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก คนกลุ่มนี้ก็อาจมีความผิดปกติในระดับยีน มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีน จนอาจกลายเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน

วิธีการตรวจวินิจฉัยและการรักษามะเร็งรังไข่

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูก แพทย์จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้น ๆ โดยทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) บางกรณีที่ต้องการตรวจประเมินอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้อง อาจมีการส่งตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI นอกจากนั้นจะต้องมีการเจาะเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและตรวจติดตาม หรือการตรวจเลือดเชิงลึกถึงระดับยีน (BRCA) ก็สามารถนำผลมาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงได้

ส่วนในการรักษานั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของโรค, สุขภาพของผู้ป่วยในขณะนั้น ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการ และเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละคนอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปแล้วการรักษามะเร็งรังไข่ มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธี ประกอบไปด้วย การผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัด, การให้ยารักษา, การใช้รังสีรักษา และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ในระยะแรก ก็มีโอกาสที่จะรักษาหายถึง 90% และได้ผลการรักษาที่ดี

มะเร็งรังไข่ ลดเสี่ยง เลี่ยงการเกิดได้อย่างไร?

ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ ด้วยการดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ เริ่มต้นจากการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารโดยเน้นให้มีผักและผลไม้เป็นประจำในทุก ๆ มื้อ และทุก ๆ วัน หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ เพราะในบางครั้งหากรับประทานเนื้อสัตว์มาก ๆ ก็เป็นปัจจัยร่วมในการก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมตรวจสุขภาพประจำปี และหมั่นตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors