ดวงตา เป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยทางการแพทย์นั้นได้มีการแตกแขนงกลุ่มอาการว่าเป็น Computer Vision Syndrome (CVS) เรียกสั้น ๆ ว่า ซีวีเอส มีที่มาจากการใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่ได้หยุดพักสายตา และไม่ได้บำรุงดวงตาเท่าที่ควร
“คอมพิวเตอร์ซินโดรม” (Computer syndrome) คือ ความเจ็บปวดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดต้นคอ เจ็บแขน
จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณเป็น Computer Vision Syndrome (CVS) ?
75% ในคนที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 2-3 ชม. โดยไม่พักผ่อนสายตา ในระยะหนึ่งจะมีอาการ ตาเมื่อยล้า ตาแห้ง แสบตา ตาสู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย หากพักสายตาอาการเหล่านี้จะหายไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่หากปล่อยไว้จนเรื้อรังอาจมีเป็นได้ถาวร
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคอมพิวเตอร์ซินโดรม
- กะพริบตา : การกะพริบตาเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติที่ช่วยเกลี่ยน้ำตาให้ชุ่มชื้นทั่วบริเวณดวงตา โดยทั่วไปคนเรากระพริบตา 20 ครั้ง/นาที แต่การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือแม้กระทั่งการอ่านหนังสือ เราต้องใช้สายตาจ้อง และเพ่งสิ่งนั้นเป็นเวลานาน กว่า 60% ทำให้ผิวตาเหือดแห้ง มีอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืด ๆ ในตา
- เรื่องของแสง : เมื่อได้รับแสงสะท้อนจากคอมพิวเตอร์ แสงแดดที่ส่องเข้าหน้าโดยตรง รวมถึงแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ ทั้งหมดจะสะท้อนกลับเข้าดวงตาจึงมีอาการเมื่อยล้าดวงตาได้ง่าย
- ระยะห่าง : การจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตามองสบาย ๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร และดวงตาอยู่สูงกว่าจอภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แว่นสายตาที่มองทั้งระยะใกล้และไกล จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้มองตรงกับเลนส์แว่นตาที่ใช้มองใกล้
- โรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม : ความผิดปกติของสายตาที่มีอยู่เดิม เช่น สายตาสั้น ยาว เอียงหรือปัญหาสายตาของผู้สูงอายุ ควรแก้ไขสายตาให้มองเห็นชัดที่สุด เพื่อลดการเพ่งมองโดยไม่จำเป็น บางคนสายตาผิดปกติไม่มาก หากทำงานตามปกติก็อาจจะไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อมาทำงานกับจอคอมพิวเตอร์จะเกิดอาการเมื่อยล้าได้
การป้องกัน Computer Vision Syndrome (CVS)
- การจัดระยะของคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้สบายตาที่สุด คือ ระยะห่างจากระดับสายตา 20-24 นิ้ว และวางอยู่ระดับที่ต่ำกว่าระดับสายตา 10-20 องศา
- ปรับแสงสว่างของห้องให้เพียงพอ บริเวณรอบจอและหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ต้องมีความสว่างเทากับห้อง แสงไม่จ้า หรือมืดจนเกินไป
- ติดตั้งแผ่นกรองแสง เพื่อลดแสงสะท้อน ไม่ต้องเพ่งสายตาหากแสงสว่างมากเกินไป
- ปรับขนาดตัวอักษรหน้าจอให้มีขนาดประมาณ 3 เท่าของขนาดตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่สามารถอ่านได้จากจอคอมพิวเตอร์ในระยะเดียวกัน และควรเป็นสีดำบนพื้นสีขาว
- กะพริบตาให้สม่ำเสมอ เพื่อให้มีการคลายกล้ามเนื้อ หรือพักสายตาโดยให้มองไกลประมาณ 1-2 นาที อย่างน้อย 1-2 ครั้งทุกชั่วโมง และควรหยุดพักการทำงานประมาณ 5-15 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง
- ใช้แว่นสายตา Progressive lens ในคนที่มีสายตายาว ซึ่งมีช่วงการมองหรือจุดโฟกัสหลายระดับ โดยเฉพาะที่สำคัญคือระยะกลาง (Intermediate zone) ซึ่งเป็นตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์
- ใช้แว่นตาที่มีเลนส์เคลือบสารที่ป้องกันการสะท้อน เพื่อช่วยลดการสะท้อนของแสงเข้าตา
- ปรึกษาจักษุแพทย์หากพบอาการ หรือการมองภาพผิดปกติไปจากเดิม
คลินิกตาของโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา เปิดให้บริการตรวจรักษา ผู้ป่วยหรือผู้มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการมองเห็นปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ด้วยเครื่องมือประสิทธิภาพ ทันสมัย มีความเที่ยงตรง มาตรฐานเครื่องมือเทียบเท่าระบบสากล ISO 9001:2000 มีความพร้อมด้วยทีมงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา จักษุวิทยา ซึ่งมีความชำนาญในการตรวจรักษา พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา