ดวงตาเปรียบเสมือนทางเดินสู่การเรียนรู้ในโลกกว้าง เด็กปกติสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด ระบบการมองเห็นจะมีการพัฒนาจนถึงอายุประมาณ 8-10 ขวบ พัฒนาการจึงจะเจริญเติบโตเต็มที่ ถ้าก่อน 8 ขวบมีสาเหตุที่ส่งผลให้ดวงตาทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่งทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ จะทำให้ตาข้างที่ใช้งานน้อยกว่ามีพัฒนาการที่ไม่ดีไปตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมามองเห็นชัดเจนปกติได้ เกิดภาวะที่เรียกว่า โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)
โรคตาขี้เกียจในเด็ก
จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเด็ก มีผลทำให้ตามัวมากเป็นโรคที่สามารถแก้ไขได้จากการรักษาโรคตาที่เป็นต้นเหตุ และสามารถรักษาให้หายได้ถ้ารีบรักษาตั้งแต่วัยเด็ก สำหรับเด็กที่เป็นโรคตาขี้เกียจถ้าไม่ได้รับการรักษาให้หายก่อนช่วงอายุประมาณ 8-10 ขวบ การรักษาหลังจากนั้นมักไม่ได้ผล ทำให้ตาข้างนั้นเห็นไม่ดีอย่างถาวรหรืออาจถึงขั้นตาบอดตลอดชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจ
- ตาเขหรือตาเหล่
– ตาเข เด็กจะใช้ตาข้างที่ตรงเพียงข้างเดียวในการมอง และจะไม่ใช้ตาข้างที่เขในการมอง ทำให้ตาข้างที่เข เกิดเป็นตาขี้เกียจได้ ตาขี้เกียจที่เกิดเนื่องจากตาเขเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
– ตาเหล่ ทำให้สมองของเด็กเลือกรับภาพจากตาเพียงข้างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน และถ้าสมองเลือกรับภาพจากตาใดตาหนึ่งซ้ำๆเพียงข้างเดียว ตาอีกข้างอาจเกิดตาขี้เกียจได้ - สายตาผิดปกติ (สายตาสั้น, สายตายาว, สายตาเอียง)
ถ้าตาทั้งสองข้างมีสายตาผิดปกติมากน้อยต่างกัน ตาข้างที่มีสายตาผิดปกติมากกว่า จะเห็นภาพไม่ชัด สมองจึงเลือกให้เด็กมองจากตาข้างที่เห็นชัดข้างเดียว จึงทำให้ตาอีกข้างไม่ได้รับการพัฒนาจนเกิดเป็นภาวะตาขี้เกียจ ตาขี้เกียจชนิดนี้มีลักษณะดวงตาไม่พบความผิดปกติที่เห็นได้ชัด ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่าลูกน้อยมีความผิดปกติของดวงตา ทำให้ได้รับการรักษาช้า - เกิดจากโรคตาอื่นๆ
ตาขี้เกียจชนิดนี้เกิดจากโรคที่ส่งผลให้การมองเห็นไม่พัฒนาตามวัย คือโรคตาเกิดขึ้นโดยเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นในช่วงวัยเด็ก ทำให้ตามัว จึงไม่ได้ใช้ตาข้างนั้น เมื่อรักษาโรคนั้นหายดีแล้ว สายตาก็ไม่กลับมาดีตามที่ควรจะเป็น เช่น เด็กที่เป็นต้อกระจกแต่กำเนิด, เปลือกตาตกแต่กำเนิด บดบังการมองเห็น, กระจกตาขุ่น, ต้อกระจก หรือ มีเลือดออกในตา เป็นต้น
อาการของโรคตาขี้เกียจ
- เด็กเล็ก อาจสังเกตเห็นลูกตาดำสั่น หรือเด็กไม่จ้องหน้ามารดา หรือเด็กร้องไห้เมื่อถูกปิดตา 1 ข้าง หรือพยายามดึงมือที่ปิดตาออก
- เด็กโต ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทดลองปิดตาทีละข้างสลับกัน เด็กจะมองเห็นภาพไม่ชัดเหมือนคนปกติ
การรักษา
การรักษาโรคตาขี้เกียจต้องรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น ดังที่กล่าวมาข้างต้น
- โดยการปิดตาข้างดี ภายใต้การควบคุมของจักษุแพทย์เพื่อบังคับให้ตาข้างขี้เกียจใช้งานและฟื้นฟูสายตาจนเป็นปกติ
- การใช้ยาหยอดตา
- การใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม
- การผ่าตัดหรือศัลยกรรมเพื่อรักษาโรคตาที่เกิดขึ้นโดยตั้งแต่กำเนิด
โรคตาขี้เกียจในเด็กสามารถป้องกันได้ โดยการพาเด็กไปรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ก่อนอายุ 8 ขวบ เพื่อทำการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ไม่สังเกตลักษณะความผิดปกติของลูก และแก้ไขตั้งแต่วัยเด็ก ลูกน้อยของคุณจะมีความพิการทางดวงตาจากโรคตาขี้เกียจไปตลอดชีวิต