โรคหัวใจในเด็ก ภัยเงียบที่ต้องระวัง

ฮอร์โมนข้ามเพศ

โรคหัวใจเด็กเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

โรคหัวใจในเด็ก แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

  1. กลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุความผิดพลาดทางพันธุกรรมที่เกิดเองได้ตามธรรมชาติ 0.8% หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ได้
  2. กลุ่มโรคหัวใจที่เกิดภายหลัง (Acquired heart disease) เช่น การติดเชื้อที่หัวใจ หรือ การอักเสบอื่น ๆ นอกจากการติดเชื้อ เช่น โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)
  3. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ซึ่งอาจเกิดได้เอง หรือมีโรคหัวใจ 2 กลุ่มข้างต้นร่วมด้วยได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจในเด็ก

จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าเด็กที่คลอดปกติ 1000 ราย จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ 8 ราย ตามธรรมชาติของโลกอยู่แล้ว แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป, มีการติดเชื้อบางอย่างขณะตั้งครรภ์, การที่คุณแม่ได้รับยาบางอย่างที่มีผลต่อเด็กในท้อง, โรคประจำตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE), โรคพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์
  • มีประวัติครอบครัวที่เคยมีการติดเชื้อที่หัวใจ, ประวัติการใช้สารเสพติด, เด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • มีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะในครอบครัว, ประวัติเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น หมดสติ จมน้ำ หรืออุบัติเหตุทางถนน
  • เด็กที่มีการคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus group A แล้วกินยาฆ่าเชื้อไม่ครบตามแพทย์สั่ง

สัญญาณเตือนว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจ

หากพบว่าบุตรหลานมีประวัติความเสี่ยงตามข้างต้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินโอกาสการเป็นโรคหัวใจ และส่งตรวจเพิ่มเติม ส่วนอาการอื่น ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจนอกจากความเสี่ยงข้างต้น ได้แก่

  • ตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ เช่น เสียง “ฟู่” หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เด็กทารกที่กินนมแล้วรู้สึกเหนื่อย กินได้ครั้งละน้อยๆร่วมกับหายใจแรงปีกจมูกบาน มีอาการอกบุ๋มหรือหัวโยกเวลาออกแรงกินนม เหงื่อออกง่ายและออกมากกว่าปกติ น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์
  • ในเด็กที่โตขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • เด็กที่มีอาการปากเขียวเวลาร้องไห้หรือเวลาเล่นออกกำลังกาย
  • เด็กที่มีอาการหมดสติเป็นลม หรือสามารถบอกได้ว่ามีอาการเจ็บหน้าอกหรือใจสั่น
    หากบุตรหลานท่านมีอาการเหล่านี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจเช่นกัน

การตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก

การตรวจหาโรคหัวใจในเด็กนั้น ประเมินตั้งแต่ตรวจร่างกายเพื่อพิจารณาว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจชนิดใด และจะส่งตรวจเพิ่มเติมเช่น ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (CXR), คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), อุลตร้าซาวน์หัวใจหรือที่เรียกว่า Echocardiogram เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเบื้องต้น และยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็น เช่น การวิ่งสายพาน (Exercise stress test),  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitoring), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), รวมถึงการสวนหัวใจ (cardiac catherization) เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำและเหมาะสมสำหรับการรักษาต่อไป

การป้องกันและรักษาโรคหัวใจในเด็ก

สาเหตุบางอย่างของโรคหัวใจในเด็กอาจป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากพบว่าตัวเองมีโรคประจำตัว อาการไม่สบายที่สงสัยการติดเชื้อ หรือมียาที่ต้องกินอยู่ควรปรึกษาแพทย์วายาและภาวะเหล่านี้มีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่  รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดหัวใจอักเสบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดข้ออักเสบจากแบคทีเรียข้างต้น การติดเชื้อโควิดที่สามารถทำให้เกิดหัวใจอักเสบตามมา รวมถึงการป้องกันฟันผุในเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ส่วนบางสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้ เราสามารถลดความรุนแรงของโรคได้หากเราสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่นั้นแรกเริ่ม ดังนั้นหากบุตรหลานของท่านมีประวัติความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจในเด็ก หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจในเด็กตามข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยยา บางชนิดหายเองได้แต่ต้องคอยสังเกตอาการเป็นระยะ และบางโรคอาจต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด ซึ่งหากตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคการรักษามักจะได้ผลดีมากกว่า

ดูแลลูกอย่างไรให้หัวใจแข็งแรง

  • การดูแลสุขภาพหัวใจ และเส้นเลือดสามารถทำได้ตั้งแต่เด็ก ทั้งกลุ่มเด็กปกติและกลุ่มเด็กที่เป็นโรคหัวใจ มีการศึกษาของ American Heart Association ปี 2020 ให้คำแนะนำไว้ 7 ข้อ ดังนี้ครับ
    1. ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอ้วน ซึ่งเวลาตรวจสุขภาพฉีดวัคซีนหากพบว่าน้ำหนักเกินต้องควบคุมน้ำหนักตามคำแนะนำของแพทย์
    2. การออกกำลังกายระดับกลางขึ้นไป หรือออกกำลังกายให้มีเหงื่อ 60 นาทีต่อวันทุกวัน
    3. งดสูบบุหรี่หรือสูบควันบุหรี่จากบุคคลรอบตัวเด็ก
    4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพหัวใจ เช่น ผักและผลไม้สี่ถ้วยครึ่งต่อวัน ไม่กินอาหารเค็ม และลดการใช้น้ำตาลรวมถึงขนมหวาน
    5. ตรวจเช็คความดันให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะมีการวัดความดันเวลาตรวจสุขภาพฉีดวัคซีนเป็นระยะตามช่วงอายุของเด็ก
    6. ควบคุมระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    7. ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ : ซึ่งการตรวจระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดจะพิจารณาเป็นราย ๆ ขึ้นกับความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานและไขมันสูง เช่น เมื่อเด็กมีภาวะโรคอ้วน
  • ส่วนในเด็กที่เป็นโรคหัวใจนั้นแนะนำให้พบกุมารแพทย์โรคหัวใจ เนื่องจากโรคหัวใจในเด็กมีหลายชนิด และหลากหลายความรุนแรง ซึ่งการแนะนำการดูแลสุขภาพหัวใจในเด็กกลุ่มนี้จะต้องแนะนำเฉพาะเจาะจงเป็นแต่ละรายไป
  • สุดท้ายการดูแล ส่งเสริมสุขภาพหัวใจและเส้นเลือดในเด็กไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองเพื่อให้บุตรหลานของท่านแข็งแรง และหากมีข้อสงสัยในการดูแลสุขภาพหัวใจเด็กสามารถปรึกษาแพทย์ได้เพื่อขอคำแนะนำในการปฎิบัติตัวครับ

ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors