“เด็กมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา”
บางรายตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด บางรายตรวจพบหลังอายุ 1-2 เดือน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก และหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคหัวใจสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กอย่างรุนแรง โรคหัวใจในเด็กหายได้ หากตรวจพบเร็ว และรักษาอย่างทันท่วงที
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการดูแล และป้องกันโรคหัวใจในเด็ก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้อง และดูแลหัวใจน้อย ๆ ของลูกคุณได้อย่างดีที่สุด
โรคหัวใจเด็กเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
โรคหัวใจในเด็ก แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- กลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุความผิดพลาดทางพันธุกรรมที่เกิดเองได้ตามธรรมชาติ 0.8% หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่นๆได้ โดยชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว ความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น มีรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังกั้นห้องล่าง หรือมีลิ้นหัวใจตีบเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ก็สามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหรือบริเวณรูรั่ว
- กลุ่มโรคหัวใจที่เกิดภายหลัง (Acquired heart disease) หรือเกิดขึ้นหลังคลอด ที่พบได้บ่อย เช่น โรคคาวาซากิ, โรคไข้รูมาติก, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, การติดเชื้อที่หัวใจ หรือการอักเสบอื่นๆ
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเกิดได้เองหรือมีโรคหัวใจ 2 กลุ่มข้างต้นร่วมด้วยได้
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจในเด็ก
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าเด็กที่คลอดปกติ 1,000 ราย จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ 8 ราย ตามธรรมชาติของโรคอยู่แล้ว แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น ได้แก่
- มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
- มีการติดเชื้อบางอย่างขณะตั้งครรภ์
- การที่คุณแม่ได้รับยาบางอย่างที่มีผลต่อเด็กในท้อง
- โรคประจำตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์
- มีประวัติครอบครัวที่เคยมีการติดเชื้อที่หัวใจ ประวัติการใช้สารเสพติด เด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- มีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะในครอบครัว ประวัติเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น หมดสติ จมน้ำ
- เด็กที่มีอาการคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus group A แล้วกินยาฆ่าเชื้อไม่ครบตามแพทย์สั่ง
สัญญาณเตือนว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจ
หากพบว่าบุตรหลานมีประวัติความเสี่ยงตามข้างต้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินโอกาสการเป็นโรคหัวใจ และส่งตรวจเพิ่มเติม ส่วนอาการอื่นๆที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจนอกจากความเสี่ยงข้างต้น ได้แก่
- ตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ เช่น เสียง “ฟู่” หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เด็กทารกที่กินนมแล้วรู้สึกเหนื่อย กินได้ครั้งละน้อย ๆ ร่วมกับหายใจแรงปีกจมูกบาน มีอาการอกบุ๋มหรือหัวโยกเวลาออกแรงกินนม เหงื่อออกง่าย และออกมากกว่าปกติ น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์
- เด็กที่โตขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- เด็กที่มีอาการปากเขียวเวลาร้องไห้หรือเวลาเล่นออกกำลังกาย
- เด็กที่มีอาการหมดสติเป็นลมหรือสามารถบอกได้ว่ามีอาการเจ็บหน้าอกหรือใจสั่น
- เจริญเติบโตช้า
หากบุตรหลานท่านมีอาการเหล่านี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจเช่นกัน
การตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก
การตรวจหาโรคหัวใจในเด็กนั้น ประเมินตั้งแต่ตรวจร่างกายเพื่อพิจารณาว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจชนิดใด และมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (CXR), คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), อัลตราซาวด์หัวใจหรือที่เรียกว่า Echocardiogram เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเบื้องต้น และยังมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็น เช่น การวิ่งสายพาน (Exercise stress test), การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitoring), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), รวมถึงการสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับการรักษาต่อไป
การป้องกัน และรักษาโรคหัวใจในเด็ก
- สาเหตุของโรคที่อาจป้องกันได้ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากพบว่าตัวเองมีโรคประจำตัว มียาที่ต้องทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องยา และภาวะเหล่าน้ั้นว่ามีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดหัวใจอักเสบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่ทำให้เกิดข้ออักเสบจากแบคทีเรีย การติดเชื้อโควิดที่สามารถทำให้เกิดหัวใจอักเสบตามมา รวมถึงการป้องกันฟันผุในเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- สาเหตุของโรคที่ป้องกันไม่ได้ เราสามารถลดความรุนแรงของโรคได้หากเราตรวจพบโรคได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้นหากบุตรหลานของท่านมีประวัติความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจในเด็ก หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจในเด็กตามข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาที่อย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยยาบางชนิดหายเองได้แต่ต้องสังเกตอาการเป็นระยะ และบางโรคอาจต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือผ่าตัด ซึ่งหากตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคการรักษามักจะได้ผลดีมากกว่า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม อาคาร A ชั้น 3
โทร. 038-317-333 ต่อ 2305, 2337