โรคอ้วนในเด็ก จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกอ้วนแล้ว

ภาวะอ้วนหรือโรคอ้วนในเด็ก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ใช้เวลาว่างไปกับการดูโทรทัศน์ ดูคลิปออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย

โรคอ้วนในวัยเด็กเป็นความผิดปกติที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม บทความนี้เลยอยากชวนมาทำความเข้าใจ “ภาวะอ้วนในเด็ก” กันค่ะว่า เด็กอ้วนจะเสี่ยงต่อภาวะหรือโรคอะไรได้บ้าง มีวิธีรักษา และข้อปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงสมวัย

อ้างอิงจากรายงานของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6 – 14 ปี ที่มีปัญหาโรคอ้วน และน้ำหนักเกินมีสัดส่วนมากถึง 13.4% และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.13% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงติด 1 ใน 3 ของอาเซียน โดยสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2578 ประชากรที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ภาวะอ้วนจัดเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนหรือโรคอ้วนมักจะถูกทำให้เกิดความอับอาย ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ และทำกิจกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วน และโรคอ้วน มีแนวโน้มจะอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ เป็นต้น

ภาวะอ้วนในเด็กนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา

ข้อสังเกต จะรู้ได้อย่างไรว่า “เด็กมีภาวะอ้วน” แล้ว ?

  1. น้ำหนักตัวของเด็ก สูงกว่าค่ามัธยฐานของน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็ก (median of weight-forheight) มากกว่า 3 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation, SD) โดยใช้เกณฑ์อ้างอิงของมาตรฐานการเจริญเติบโตของกระทรวงสาธารณสุข อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า ลูกของเรามีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักมากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนสูงนั่นเอง
  2. คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เพื่อประเมินว่าร่างกายของเด็กมีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยใช้สูตร ดังนี้

ตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 40 kg. ส่วนสูง 110 cm. หรือ 1.10 m.

ดัชนีมวลกาย (BMI) จะเท่ากับ 33.05 kg./m²

 

กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุของเด็กอายุ 0 – 5 ปี เพศชาย

ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564

กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์อายุของเด็กอายุ 0 – 5 ปี เพศหญิง

ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564

กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กอายุ 6 – 19 ปี เพศชาย

ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564

กราฟแสดงน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กอายุ 6 – 19 ปี เพศหญิง

ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2564

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง และขนมหวานต่าง ๆ รวมทั้งการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ

  • พันธุกรรม โรคอ้วนของเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักของพ่อแม่ โดยเด็กที่มีพ่อแม่น้ำหนักเกินมักจะมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนสูงกว่า นอกจากนี้ น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังมีความสัมพันธ์กับลูกมากกว่าคุณพ่อ เพราะอาหาร และน้ำหนักตัวของคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ มีอิทธิพลต่อการควบคุมความอยากอาหารของลูก และน้ำหนักตัวในอนาคตของลูกน้อย
  • การทานอาหารพลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลสูง ไขมันสัตว์ ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งแคลอรี่ส่วนเกินนั้นจะไปสะสมเป็นรูปแบบไขมัน ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้
  • ไม่ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย พฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป เด็กส่วนใหญ่ ใช้เวลาไปกับกิจกรรมออนไลน์เป็นหลักหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมติดจอ และทำกิจกรรม out door ที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้จากอาหาร และพลังงานที่ใช้ของร่างกาย
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนไม่หลับมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่เป็นเวลา จะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย และมีแนวโน้มจะออกกำลังกายน้อยลง ทั้งยังส่งผลต่อระดับความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียด ที่จะส่งผลให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารรสหวาน

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน

  1. ระบบหายใจ เนื่องจากเด็กอ้วนมักเกิดอาการนอนกรน บางรายมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งมีผลทําให้เลือดมีออกซิเจนน้อยลงขณะหลับ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโต
  2. ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ในเด็กที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง เช่น อาหารมัน อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู๊ด จะทําให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากเด็กที่อ้วนมักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่าย
  3. ทําให้เกิดโรคเบาหวาน เด็กที่อ้วนมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน และอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ทําให้เกิดโรคเบาหวานคล้ายในผู้ใหญ่ได้ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตา ไต ระบบประสาท และหัวใจตามมาได้
  4. ระบบทางเดินอาหาร และตับ มักจะเกิดไขมันสะสมในตับ เกิดตับอักเสบ มีปัญหาทางไต เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  5. ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ทำให้เคลื่อนไหวลําบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า และหากเกิดการพลัดตกหกล้มจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน เช่น ขาโก่ง โรคหัวกระดูกข้อสะโพกเคลื่อน กระดูกหักง่าย นอกจากนี้ กระดูก และข้อต่อจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ําหนักตัวมาก
  6. ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีผื่นสีน้ำตาลดำหนาบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ รอยแตกบริเวณหน้าท้อง และผื่นแดงบริเวณข้อพับเกิดจากการเสียดสี
  7. สภาพจิตใจ มีภาวะซึมเศร้า แยกตัวจากสังคมเนื่องจากถูกล้อเลียน ทําให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่อยากเข้าสังคม

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง

พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ และใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกหลาน ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ให้ลูกรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ และสนับสนุนกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะอ้วน โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

1. ควบคุมปริมาณ และเลือกอาหารที่เหมาะสมให้เด็ก

  • จัดอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ให้เขาได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการทุกมื้อ
  • ลด การกินหวาน มัน เค็ม
  • หลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น รวมถึงอาหารแช่แข็งพร้อมทาน และอาหารฟาสต์ฟู๊ดที่ให้พลังงานสูง
  • ควบคุม การกินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ชานมไข่มุก โดยจัดเตรียมนมรสจืดไว้ในตู้เย็นแทน
  • ปลูกฝัง นิสัยการกินผัก และผลไม้ โดยเน้นให้มีการทานผักกับผลไม้ไม่หวานมากขึ้น
  • ดื่มน้ำ สะอาดให้เพียงพอ 6 – 8 แก้ว เป็นประจำทุกวัน

2. ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย และออกกำลังกาย เพื่อให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย

  • จัดกิจกรรมในครอบครัว โดยให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อลดเวลาการใช้สื่อออนไลน์ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน ท่องเที่ยว เป็นต้น
  • ส่งเสริมให้เด็กวิ่งเล่น ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เช่น ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เล่นกีฬาเป็นทีม เป็นต้น

3. ให้เด็กเข้านอนตรงเวลา และพักผ่อนให้เพียงพอ การเข้านอนตรงเวลาตั้งแต่หัวค่ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และวันละ 8–10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) จะช่วยให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซม ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญพลังงาน นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง และการเจริญเติบโตสมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย

4. พาเด็กไปพบคุณหมอ และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ การตรวจสุขภาพเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองได้พบปัญหา และได้รับคำแนะนำจากคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งยังได้รับทราบเกี่ยวกับสุขภาพ และพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยว่ามีสิ่งใดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จะได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักตัว และการเจริญเติบโตของลูกน้อยด้วย

แม้เด็กอ้วนจะดูจ่ำม่ำ น่ารักขนาดไหน แต่ “ภาวะอ้วนในเด็ก” นั้นอันตรายกว่าที่คิดนะคะ เพราะโรคอ้วนนับเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และการเข้าสังคมของเด็ก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่รวมถึงผู้ปกครองทุกท่านควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพาเด็ก ๆ ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขาแข็งแรง มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และห่างไกลจากโรค


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors